กูเกิลงดใช้ AI กับอาวุธ
กูเกิลจะไม่ใช้ซอฟท์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กับอาวุธ หรือ การตรวจสอบใดๆที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ภายใต้มาตรฐานใหม่ของการตัดสินใจทางธุรกิจในสาขาใหม่ อัลฟาเบทระบุเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.
กฎข้อบังคับนี้จะช่วยการจัดการของกูเกิลให้ลดความรุนแรงของการประท้วงจากพนักงานนับพันคนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ในประเด็นการทำงานของบริษัทกับกองทัพสหรัฐฯในการตรวจพิสูจน์วัตถุในวิดีโอโดรน
โดยกูเกิลจะทำสัญญากับรัฐบาลในธุรกิจภาคส่วนอื่นแทน เช่น ความมั่นคงทางไซเบอร์ การรับสมัครเข้ารับราชการทหาร การสืบค้นและช่วยชีวิต สุนทร พิชัย ซีอีโอของกูเกิลระบุในบล็อกของบริษัทเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.
“ เราต้องการทำให้ชัดเจนว่า เราไม่ได้พัฒนา AI ขึ้นมาเพื่อใช้ในเรื่องอาวุธ เราจะทำงานของเราต่อไปกับทางรัฐบาลและกองทัพสหรัฐฯในภาคส่วนอื่นๆ”
จากการทุ่มเททั้งงบประมาณและความพยายามในการพัฒนา AI จากห้องแล็บวิจัยมาสู่อุตสาหกรรม ทั้งภาคส่วนการป้องกันประเทศและสาธารณสุขใน 2-3 ปีล่าสุด ทำให้กูเกิลและบริษัทคู่แข่งรายใหญ่อื่นๆ กลายเป็นผู้ขายระดับแนวหน้าของอุปกรณ์ AI ซึ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์พิจารณาชุดข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อทำนายและพิสูจน์รูปแบบและความผิดปกติได้รวดเร็วกว่าที่มนุษย์จะทำได้
แต่ศักยภาพของระบบ AI ในการหาตำแหน่งของโดรนที่ดีกว่าของกองทัพ หรือการแยกแยะผู้เห็นต่างจากข้อมูลออนไลน์จำนวนมาก ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักวิชาการในเรื่องจริยธรรมและพนักงานของกูเกิล
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. พนักงานกูเกิลผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุในประเด็นที่อ่อนไหวนี้ว่า บริษัทไม่เข้าร่วมกับโครงการโดรนในปีที่แล้ว ในส่วนการทำงานที่เข้าใกล้จะเป็นเรื่องอาวุธ แม้จะเน้นที่งานที่ไม่ใช่การโจมตีก็ตาม
กูเกิลมีแผนจะตกลงทำข้อผูกพันกับโครงการไปจนถึงเดือนมี.ค.ปีหน้า มีพนักงานมากกว่า 4,600 คนที่ยื่นคำร้องให้กูเกิลยกเลิกข้อตกลงโดยเร็วที่สุด และมีพนักงานอย่างน้อย 13 คนที่ตัดสินใจลาออกในช่วงสัปดาห์นี้เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกังวล
คณะกรรมการที่ประกอบด้วยพนักงาน 9 คนได้ร่างหลักการของ AI ขึ้นมา อ้างอิงจากอีเมลภายในบริษัทที่ทางสื่อรอยเตอร์รายงาน
โดยกูเกิลอธิบายว่า หลักการของ AI เหมือนเป็นแม่แบบที่ผู้พัฒนาซอฟท์แวร์สามารถใส่เข้าไปเพื่อการใช้งานได้ทันที แม้ไมโครซอฟท์และผู้พัฒนารายอื่นๆจะเผยถึงหลักการของ AI มาก่อนหน้านี้ แต่ประชาคม AI กลับเดินตามความพยายามของกูเกิลมากกว่าเพราะการผลักดันภายในบริษัทที่ต่อต้านข้อตกลงโดรนกับกองทัพ
หลักการของกูเกิลระบุว่า จะไม่ให้ AI ก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการสำรวจที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนในระดับสากล หรือ เป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าการทำประโยชน์ให้
“ แถลงการณ์ที่ชัดเจนว่ากูเกิลจะไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือ การสำรวจเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก ” Ryan Calo อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายเทคโนโลยีประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตันทวีตบนทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.
กูเกิลยังร้องขอให้พนักงานและลูกค้าพัฒนา AI เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ไม่ยุติธรรมต่อผู้คน โดยเฉพาะในประเด็นเชื้อชาติ เพศ ความหลากหลายทางเพศ และความเชื่อทางการเมืองหรือศาสนา นอกจากนี้ บริษัทยังได้แนะนำให้ผู้พัฒนาหลีกเลี่ยงการใช้โปรแกรม AI ที่ก่อให้เกิดการทำลายล้าง หากถูกโจมตีด้วยแฮกเกอร์ เพราะระบบความมั่นคงที่มีอยู่ยังพึ่งพาไม่ได้
ซีอีโอพิชัยระบุว่า กูเกิลขอสงวนสิทธิที่จะบล็อกแอปพลิเคชั่นที่ละเมิดหลักการ อย่างไรก็ตาม กูเกิลทราบดีว่า การบังคับใช้เป็นเรื่องยากเพราะบริษัทไม่สามารถติดตามการใช้อุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมายได้หมด เนื่องจากบางส่วนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีและใช้เป็นการส่วนตัว
ทั้งนี้ การตัดสินใจของกูเกิลที่จะเข้มงวดกับการใช้งานทางทหารก่อให้เกิดการวิจารณ์จากสมาชิกสภาคองเกรส โดยส.ส. Pete King จากพรรครีพับลิกันทวีตเมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ว่า การที่กูเกิลไม่ขยายข้อตกลงเรื่องโดรนออกไปเป็นความพ่ายแพ้ของฝ่ายความมั่นคงสหรัฐฯ.