รมว.คลัง G-7 ประณามภาษีโลหะสหรัฐฯ
บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในกลุ่มประเทศพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯ กล่าวประณามการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของทางวอชิงตัน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเป็นเวลา 3 วันเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.
Steven Mnuchin รมว.กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถูกกดดันจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอย่าง G-7 โดยประเทศเหล่านี้แสดงความกังวลและความผิดหวังอย่างที่สุดต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯที่ตัดสินใจขึ้นภาษีเหล็ก 25 % และอะลูมิเนียม 10% กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งรวมถึงแคนาดา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นด้วย
รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลประโยชน์จากระบบการค้าเสรี และผลกระทบด้านลบจากมาตรการทางการค้าที่คิดถึงแต่ประเทศตัวเองฝ่ายเดียวจากสหรัฐฯ กลุ่มรมว.และผู้ว่าการระบุในแถลงการณ์ย่อที่เขียนโดยผู้แทนจากแคนาดา
ทั้งนี้ บรรดาตัวแทนจากประเทศต่างๆ ตกลงกันในการประชุมที่สกีรีสอร์ท Whistler ในแคนาดา ซึ่งมีการพูดคุยในประเด็นนี้ในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G-7 ที่จัดขึ้นในเมือง Charlevoix วันที่ 1 – 2 มิ.ย.และสรุปว่าจำเป็นต้องมีการปฏิบัติที่ชัดเจน
กลุ่มประเทศ G -7 ประกอบด้วย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ โดย 6 ประเทศในกลุ่มนี้ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ากับสหรัฐฯ ต้องจ่ายภาษีตัวนี้ ซึ่งสหรัฐฯ มีการประกาศใช้ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าไปที่จีนเป็นหลัก แต่กลับส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รมว.Mnuchin ปฏิเสธว่า การประชุมได้กลายสภาพเป็นประเทศ G-6 +1 ไปแล้ว เพราะสหรัฐฯเหมือนจะถูกโดดเดี่ยวจากประเทศสมาชิกอื่น โดยประเทศเหล่านี้เน้นว่าจะทำการโต้ตอบจุดยืนของประธานาธิบดีทรัมป์ที่พอใจกับระบบการกีดกันทางการค้ามากกว่าการค้าเสรี
“ ในความเห็นของเรา อเมริกันต้องตัดสินใจ ที่จะลงมือทำเพื่อสิ่งที่สร้างสรรค์ การกีดกันทางการค้าเป็นการทำลายความสามารถของเราที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น” Bill Morneau รมว.กระทรวงการคลังของแคนาดาระบุในการแถลงข่าวหลังจบการประชุม
ทาโร อาโสะ รมว.คลังของญี่ปุ่นกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับสมาชิกกลุ่มประเทศ G-7 ที่จะแสดงจุดยืนที่ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
กลุ่มผู้นำระบบการเงินของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้เห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังแข็งแกร่งขึ้นและมีการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าจะมีความเสี่ยงหลายประการ เช่น ความอ่อนแอในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ค่าเงินอ่อนค่าลงทันทีจากผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
โดยพวกเขายังเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือกันในระดับนานาชาติเพื่อการกำกับดูแลทรัพย์สินที่มาจากสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงิน และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย.