มุสลิมร่วมอาลัยนร.ปากีสถานหลังเหตุกราดยิงที่เท็กซัส
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ชุมชนชาวมุสลิมในเมืองฮิวสตันรวมตัวกันเพื่อสวดภาวนาในงานพิธีศพของนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวปากีสถานวัย 17 ปี ซึ่งเสียชีวิตในเหตุกราดยิงที่โรงเรียนเท็กซัส ไฮสคูล
ผู้คนกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายปากีสถานและสวมเครื่องแต่งกายมุสลิม รวมตัวกันในศูนย์อิสลามที่สตาฟฟอร์ด เพื่อเป็นเกียรติให้กับ Sabika Sheikh โดยมีรถบรรทุกศพนำร่างของนักเรียนรายนี้ไปยังสถานที่ไว้อาลัย จากเมืองซานตาเฟ ซึ่งเป็นเมืองชนบทเล็ก ๆ ที่เกิดนักเรียนกราดยิงจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ในจำนวนนี้มีนักเรียนทั้งหมด 8 ราย
ในบรรดาผู้ร่วมงานไว้อาลัย มีญาติคนแรกที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯผู้ข้องเกี่ยวกับวัยรุ่นผู้เสียชีวิตมาร่วมงานด้วย โดยเธอบอกว่า ครอบครัวของ Sheikh ต่างใจสลายอย่างถึงที่สุด
Shaheera al-Basid ญาติคนดังกล่าว ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาโทในวอชิงตันให้สัมภาษณ์กับทาง AFP ที่งานพิธีศพว่า “เราได้ติดต่อกับพวกเขา ครอบครัวที่บ้านของเธอ พวกเขาร้องไห้ตลอดเวลา แม่ของเธอยังคงปฏิเสธความจริงจนตอนนี้”
“มันสะเทือนใจมากเสียจนเราต้องใช้เวลาทั้งชีวิตของเราเพื่อจะฟื้นจากความจริง”
กลุ่มผู้ชายต่างยืนต่อแถวกันต่างกล่าวคำภาวนาและสวดมนต์ตามพิธีกรรมดั้งเดิมต่อโลงศพของวัยรุ่นผู้เสียชีวิต โดยโลงของเธอคลุมด้วยธงสีเขียวและขาวประเทศปากีสถาน ซึ่งถูกนำเข้าไปยังสถานจัดพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่อไป
Sheikh มีกำหนดการกลับบ้านของเธอภายในอีกไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเธอจะกลับบ้านในวันอีดิลฟิฏรี หรือวันเฉลิมฉลองการออกจากศีลอดหรือ เทศกาลรอมฎอน
Ike Samad นายหน้าวัย 67 ที่เกิดในปากีสถานแต่ใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเขาที่สหรัฐฯและเลี้ยงดูลูกอย่างชาวอเมริกันระบุว่า “มันเป็นเรื่องสะเทือนขวัญมาก น่าเศร้ามากจริง ๆ”
เขาบอกว่า “ผมมาที่นี่เหมือนกับเธอ ตอนที่ยังเป็นนักเรียน พระเจ้าละเว้นเหตุการณ์เหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นกับผมตอนที่ผมอยู่ที่นี่ ในฐานะผู้ปกครอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นหายนะสำหรับผม”
Samad ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์ราวกับการประชดประชันที่แสนเจ็บปวด ที่ว่า ‘เด็กสาว’ จากประเทศที่ชาวอเมริกันมากมายมีส่วนร่วมในสงครามซึ่งต่อมาสร้างเหตุการณ์การโจมตีที่น่าสะพรึงในภายหลังอย่างวันที่ 11 ก.ย. 2544 หรือ 9/11 ในนครนิวยอร์ค และวอชิงตัน กลับถูกคร่าชีวิตในประเทศที่ผู้คนหลายล้านทั่วโลกมองว่าเป็นพื้นที่แห่ง ‘อิสรภาพ’
เขากล่าวว่า การโจมตีหลายครั้งถือเป็น “โศกนาฏกรรมและบางครั้งโศกนาฏกรรมก็ให้บทเรียนชีวิตกับคุณ แต่มันก็ยังเกิดขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้มันเกิดขึ้นใกล้มาก”
วัยรุ่นชาวปากีสถานและอเมริกันต่างเข้าร่วมงานพิธีศพด้วยเช่นกัน โดยวัยรุ่นรายหนึ่งได้กล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อจริง ๆ ที่เด็กแลกเปลี่ยนวัยเดียวกันจะถูกฆาตกรรมอย่างเลือดเย็นในโรงเรียนที่อเมริกาแบบนี้
เขากล่าวว่า “ประเทศของเราเป็นที่รู้กันว่าปลอดภัย ถ้าหากอเมริกาไม่ปลอดภัย แล้วที่ไหนกันถึงจะปลอดภัย?”.