ยูทูบเตรียมเปิดตัวสู่วงการสตรีมมิงเพลง
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ยูทูบ ซึ่งมีบริษัทกูเกิลเป็นเจ้าของ ได้ออกมาระบุว่าจะมีการเปิดตัวบริการสตรีมมิงเพลงใหม่ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีชื่อว่า ยูทูบ มิวสิค และจะเปิดตัวบริการแบบพรีเมียมซึ่งเก็บค่าบริการมากขึ้นเพื่อผลงานต้นฉบับ
บริษัทยูทูบ ซึ่งมีบริษัทกูเกิล จากอัลฟาเบตเป็นเจ้าของระบุว่า ยูทูบ มิวสิค ซึ่งจะเปิดตัวในวันที่ 22 พ.ค. มาพร้อมฟีเจอร์เสริมอย่างการจัดรายการเพลงส่วนตัว ตามประวัติการเข้าใช้เว็บไซต์ยูทูบของแต่ละบุคคลและรูปแบบการใช้อื่น ๆ ของผู้ใช้
นอกจากนี้ ยูทูบยังระบุอีกว่า จะมีเปิดให้บริการยูทูบ พรีเมียม ซึ่งเป็นบริการที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นจากต้นแบบอย่างยูทูบ เรด โดยเน้นให้บริการด้านการติดตามผู้ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ
ทางยูทูบได้ให้ข้อมูลไว้ในบล็อก (https://youtube.googleblog.com/) ว่า ยูทูบ มิวสิค จะมีเวอร์ชันซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโฆษณาเพื่อให้ใช้บริการได้ฟรี ในขณะที่อีกเวอร์ชัน หรือ ยูทูบ มิวสิค พรีเมียม จะพร้อมให้บริการสำหรับสมาชิกที่ชำระเงินโดยปราศจากโฆษณา ซึ่งมีค่าบริการรายเดือนอยู่ที่ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 320.58 บาท
ยูทูบวางแผนที่จะเก็บค่าบริการมากขึ้น 2 ดอลลาร์ หรือ 64.18 บาท สำหรับบริการแบบพรีเมียม เนื่องจากบริการของพรีเมียมได้รวมเอาบริการจากยูทูบ มิวสิค รวมเข้ากับผลงานต้นฉบับ ส่วนทางยูทูบ พรีเมียม จะเรียกเก็บค่าบริการสมาชิกใหม่ทุกรายเป็นเงิน 11.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 384.79 บาท
ทางยูทูบระบุว่า “ ยูทูบ พรีเมียมให้บริการในแบบที่ไม่มีโฆษณา ทั้งในพื้นหลังและในระบบออฟไลน์ทั่วทั้งยูทูบ เช่นเดียวกับการเข้าชมผลงานต้นฉบับในยูทูบ ออริจินัล โดยรวมผลงานไว้อย่าง Cobra Kai และ Step Up: High Water รวมถึง Youth & Consequences ”
สำหรับสมาชิกที่ใช้บริการยูทูบ เรด อยู่ก่อนแล้ว จะสามารถชำระเงินค่าบริการรายเดือนตามอัตราปัจจุบัน ได้แม้ว่าจะใช้บริการยูทูบ พรีเมียม
ยูทูบ มิวสิค จะเปิดตัวในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก และเกาหลีใต้ ในวันที่ 22 พ.ค.ที่จะถึง โดยจะมีบางประเทศเปิดตัวตามมาในภายหลัง
ข่าวดังกล่าวทำให้หุ้นของบริษัทผู้ให้บริการสตรีมมิงเพลงบางแห่งอย่างสปอติฟาย และแพนโดรา ลดลงราว 2% บริการยูทูบ มิวสิค คาดว่าจะถูกเปิดตัวเพื่อมาแทนบริการที่มีอยู่ก่อนแล้วของอัลฟาเบต อย่างกูเกิล เพลย์ มิวสิค
การเติบโตของการให้บริการสตรีมมิงเพลงที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ช่วยลดจำนวนผู้ฟังจากการฟังเพลงฟรี หรือผิดลิขสิทธิ์ และได้นำทางมาสู่บริการต่าง ๆ อย่างสปอติฟาย และแอปเปิล มิวสิค โดยทั้งสองได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมและวงการเพลง.