เร่งช่วยทารกโรฮิงญาที่แม่ถูกข่มขืน
องค์กรช่วยเหลือกำลังเร่งทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังคลาเทศเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มขืน ซึ่งอาจมีการคลอดที่เสี่ยงอันตราย หลังจาก 9 เดือนของเหตุการณ์ที่ทหารเมียนมากระทำรุนแรงทางเพศกับผู้หญิงและเด็กชาวมุสลิมโรฮิงญา
ผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครชาวโรฮิงญาต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อตามหาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ เนื่องจากหญิงโรฮิงญาที่ตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนส่วนใหญ่มักซ่อนตัวจากความละอายใจ พวกเขากังวลว่า เด็กทารกที่คลอดออกมาอาจถูกทอดทิ้ง หรือแม่อาจเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ที่หลบซ่อนมาตลอดในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้
Tosminara ซึ่งตัวเธอเองเป็นผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเช่นกัน ใช้เวลานานหลายเดือนเพื่อให้กำลังใจและเกลี้ยกล่อมให้พวกเธอออกจากที่ซ่อน และมีอิสระในการตัดสินใจ
“ เราบอกรหัสให้พวกเธอใช้เวลาที่พวกเธอมาที่โรงพยาบาล หรือจุดรักษาพยาบาล รปภ.จะส่งตัวพวกเธอตรงมาที่จุดรักษาที่ถูกต้องทันที ” เธอกล่าว “ พวกเธอมักขี้อาย บางครั้งพวกเธอกลัวที่จะก้าวออกมาข้างหน้า”
เดือนส.ค.ปีที่แล้ว ทหารเมียนมาปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงจนทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยไปบังคลาเทศประมาณ 700,000 คน แต่ไม่ทราบแน่ชัดถึงจำนวนเหยื่อที่ถูกข่มขืน
มีการประเมินว่าจะมีสตรีชาวโรฮิงญาราว 48,000 คนที่จะคลอดบุตรในค่ายปีนี้ เหยื่อที่ถูกข่มขืนซึ่งใกล้คลอด ส่วนใหญ่จะปิดบังเป็นความลับและไม่มีแพทย์ช่วยดูแลหากพวกเธอต้องคลอดบนพื้นไม้ไผ่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่อยู่ระหว่างพรมแดนบังคลาเทศ – เมียนมา
Abdur Rahim ผู้นำชุมชนโรฮิงญากล่าวว่า เขารู้จักหญิงโรฮิงญา 2 คนเป็นการส่วนตัวที่ถูกทหารเมียนมาข่มขืนและมีกำหนดคลอดในเดือนนี้ เขายังได้ยินข่าวลือว่ามีเหยื่ออีกจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเช่นนี้
“ ทหารเมียนมาข่มขืนพวกเธอ เด็กพวกนี้เป็นหลักฐานของอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ” เขากล่าวกับสื่อ AFP
มากกว่าครึ่งของผู้อพยพโรฮิงญาซึ่งลี้ภัยไปบังคลาเทศเป็นผู้หญิงและเด็ก เราจะเห็นเด็กๆอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่สาวรุ่นจะเก็บตัวอยู่ในบ้าน เนื่องจากครอบครัวกังวลเรื่องความปลอดภัย
Emu Roy เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์บังคลาเทศกล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแม่และเด็กที่มีจำนวนน้อย ทำให้เป็นการยากที่จะรู้ว่ามีผู้หญิงมากแค่ไหนที่ต้องทนทุกข์ทรมานในความเงียบในค่ายผู้ลี้ภัย
“ เป็นไปไม่ได้สำหรับเราที่จะเดินไปเคาะประตูถามทีละหลัง” เธอกล่าวกับสื่อ AFP
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกังวลว่า หลายครอบครัวอาจบังคับให้ลูกสาววัยรุ่นแต่งงานเพื่อปกปิดการตั้งครรภ์ของพวกเธอ ขณะที่หลายคนเป็นห่วงว่า ทารกที่คลอดอาจถูกทอดทิ้งเป็นจำนวนมาก
Marcella Kraay จากองค์การแพทย์ไร้พรมแดนระบุว่าได้รักษาเหยื่อที่ถูกข่มขืน ซึ่งอยู่ในวัย 9 – 50 ปี ไปมากถึง 311 ราย ในระหว่างเดือนส.ค.ปีที่แล้วถึงเดือนมี.ค.ปีนี้ แต่เขากล่าวว่า นี่เป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ตัวเลขจริงน่าจะสูงมาก
จากกำหนดที่จะมีเด็กคลอดใหม่จำนวนมากในช่วงเดือนนี้ องค์การต่างๆ พร้อมแล้วที่จะช่วยเหลือเด็กทารกที่ถูกทิ้งส่งให้กับผู้หญิงที่พร้อมจะให้นมกับเด็กๆ จนกระทั่งหาครอบครัวพบในชุมชนโรฮิงญา
“ เราต้องการเด็กทั้งหมดจริงๆ แม้จะติดเรื่องเงื่อนไข หรือ สถานที่ซึ่งพวกเขาจะเกิด เพื่อเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีความสุข” Beatriz Ochoa จากองค์การ Save the Children กล่าวกับสื่อ AFP