ญี่ปุ่นยังขาดวัสดุทำเหรียญเงินโอลิมปิก
ญี่ปุ่นกำลังเป็นกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนเหรียญเงินโอลิมปิก จากความพยายามที่จะใช้แต่โลหะรีไซเคิลเพื่อมาผลิตเหรียญรางวัลสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2563
โดยในปีนี้มีวัสดุเพียงพอที่จะผลิตเหรียญทองแดงได้ครึ่งหนึ่งแล้วหลังจากเริ่มเก็บรวบรวมวัสดุรีไซเคิลมา แต่ยังคงมากกว่าเป็นสองเท่าของวัสดุที่จะนำมาผลิตเหรียญเงิน หากสถานการณ์ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทางผู้จัดงานจะประสบกับความขาดแคลน
จากกำหนดที่จะปิดรับวัสดุที่จะนำมาผลิตเหรีบญในสิ้นปีนี้ ทางคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียวจะเพิ่มความพยายามด้วยการเพิ่มจุดรับบริจาควัสดุอิเล็กทรอนิกส์เหลือใช้ในมหาวิทยาลัยและที่ทำการไปรษณีย์ให้มากขึ้นทั่วประเทศ
มีการนำโลหะรีไซเคิลมาผลิตเหรียญรางวัลตั้งแต่ปี 2555 ในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงลอนดอน และที่นครริโอ เดอ จาเนโรในปี 2559 ขณะที่ในโตเกียวเกมปี 2563 มีแผนที่จะใช้แต่โลหะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ เช่น สมาร์ทโฟนเก่า ถือเป็นความพยายามเช่นนี้เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์โอลิมปิก
มีการเรียกขานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆเหล่านี้ว่า ‘เหมืองแร่ในเมือง’ ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์แลปท็อปมีโลหะทองประมาณ 0.3 กรัม โลหะเงินประมาณ 0.84 กรัมและมีทองแดงประมาณ 81.6 กรัม โดยญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกที่มีจำนวนโลหะมีค่ามากอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอิกส์ชิ้นเล็กๆ
อ้างอิงจากคณะกรรมการจัดงาน จะมีจำนวนเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงเท่ากันในการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่กรุงโตเกียว และจะมีเหรียญรางวัลที่ต้องการทั้งหมดอย่างน้อย 5,000 เหรียญ
เหรียญเงินและทองแดงผลิตจากเงินและทองแดงบริสุทธิ์เกือบทั้งหมด แต่ภายใต้กฎของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เหรียญทองต้องมีส่วนผสมของเงินเป็นวัสดุพื้นฐานอยู่อย่างน้อย 6 กรัมต่อเหรียญทองหนึ่งเหรียญ
ในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ ประเมินว่า ปริมาณการใช้ทองคำอยู่ที่ 10 ก.ก. ทองแดงประมาณ 736 ก.ก. และเงินประมาณ 1,230 ก.ก. เกือบสองเท่าของปริมาณทองแดงที่ต้องการใช้
ตั้งแต่เดือนเม.ย.ปี 2560 คณะกรรมการผู้จัดงาน กระทรวงสิ่งแวดล้อม และรัฐบาลผู้บริหารกรุงโตเกียวได้เก็บรวบรวมและรับบริจาคชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล
จนถึงเดือนมี.ค.ปีนี้ ครึ่งทางของกำหนดการเก็บรวบรวมวัสดุรีไซเคิล สามารถเก็บรวบรวมทองแดงที่ต้องการได้ครึ่งหนึ่งแล้ว ขณะที่ทองและเงินยังจำเป็นต้องมีการคัดกรอง จึงทำให้ไม่รู้จำนวนที่เก็บรวบรวมได้อย่างชัดเจน
“ เรากำลังขาดโลหะเงิน ซึ่งมีความต้องการใช้มากกว่าทองแดงสองเท่า” เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการจัดงานกล่าว
มีการติดตั้งกล่องรับบริจาคที่เก็บรวบรวมสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆที่หน้าร้านของ NTT Docomo ซึ่งเข้าร่วมกับโครงการทั่วประเทศ และยังมีกล่องตามสถานที่ราชการต่างๆด้วย โดยเฉพาะในกรุงโตเกียว
ที่หน้าร้านของ NTT Docomo ประเมินว่ามีการรวบรวมสมาร์ทโฟนได้ประมาณ 3.2 ล้านเครื่องในรอบปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขแซงหน้าตัวเลขเฉลี่ย 3 ล้านเครื่องต่อปีที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ทางคณะผู้จัดงานขาดแลนโลหะเงิน ดังนั้นจึงจะเร่งติดตั้งกล่องรวบรวมเพิ่มอีกใน 3,000 จุดทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่ทำการไปรษณีย์
ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป พวกเขามีแผนจะเพิ่มจุดรับรับบริจาคและมีกิจกรรมส่งเสริมที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า โดยจะเร่งดำเนินการให้บรรลุตามเป้าหมายให้ได้ในช่วงเวลาที่เหลือ.