หัวเหว่ยเตรียมออก AI ตรวจจับอารมณ์
หัวเหว่ย บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีน ต้องการเปลี่ยนวิธีการพูดคุยของคนกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ผู้ช่วยที่สั่งการด้วยเสียง โดยหัวเหว่ยวางแผนจะทำให้บทสนทนาต่าง ๆ มีการโต้ตอบทางอารมณ์มากขึ้น
ผู้ช่วยสั่งงานด้วยเสียงเสมือนจริง มีหน้าที่ในการทำงานที่หลากหลาย โดยสามารถให้ข้อมูลอย่าง “อากาศวันนี้เป็นอย่างไร?” หรือแม้แต่ทำตามคำสั่งอย่างง่ายๆ เช่นเปิดเพลย์ลิสต์เพลง บริษัทหัวเหว่ยต้องการที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาพัฒนาไปอีกขั้น และสร้างระบบสั่งการด้วยเสียงให้กลายเป็นมิตรเพื่อเติมเต็มความต้องการทางอารมณ์สำหรับผู้ใช้งาน
เฟลิกซ์ จาง รองประธานวิศวกรรมซอฟต์แวร์ของกลุ่มธุรกิจผู้บริโภคที่บริษัทหัวเหว่ย ระบุว่า “เราต้องการสร้างการโต้ตอบทางด้านอารมณ์” โดยเขาให้สัมภาษณ์กับทางซีเอ็นบีซีในงานประชุมนักวิเคราะห์จากทั่วโลกของบริษัท ซึ่งจัดขึ้นทุกปีในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน
บริษัทหัวเหว่ยเปิดตัวผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียงในตลาดจีนเมื่อปี 2556 และระบุว่า คาดว่าจะเปิดตัวซอฟต์แวร์ AI ที่อ้างอิงจากอารมณ์ของผู้ใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้ ทางบริษัทยังบอกอีกว่า มีผู้ใช้งานระบุผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียงอยู่ทั้งหมด 110 ล้านรายต่อวัน ในประเทศจีน
นายเฟลิกซ์ จาง เสริมว่า “เราคิดว่าในอนาคต ผู้ใช้ปลายทางทั้งหมดของเราหวังว่าพวกเขาจะสามารถโต้ตอบกับระบบด้วยโหมดอารมณ์ นี่คือหนทางที่เรามองว่าจะสามารถไปได้ไกล”
บริษัทเทคโนโลยีแห่งอื่นก็มีการทดลองกับระบบ AI เพื่อรองรับผู้ใช้งาน อย่างเช่น อเล็กซา จากบริษัทอเมซอน บิกซ์บี จากบริษัทซัมซุง สิริ จากบริษัทแอปเปิล รวมถึงคอร์ทานาและเสี่ยวไอซ์ จากบริษัทไมโครซอฟต์
แนวคิดเกี่ยวกับโปรแกรมที่สามารถตรวจจับอารณ์ของผู้ใช้งาน แล้วจึงตอบโต้นั้นถูกระบุว่าเป็น “AI อารมณ์” เทคโนโลยีดังกล่าวถูกจับตามองให้มีการสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นส่วนบุคคลต่อผู้ใช้งาน
หากแนวคิดเกี่ยวกับการที่สมาร์ทโฟนของคุณกลายเป็นเพื่อนทางอารมณ์ความรู้สึกของคุณนั้นเหมือนกับภาพยนตร์ที่สร้างจากนิยายแนววิทยาศาสตร์ มันไม่ได้เกินความจริงมากนัก โดยผู้บริหารของหัวเหว่ยได้พูดเกี่ยวกับภาพยตร์ไซไฟเรื่อง “Her” ว่าถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ
ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ตัวเอกของเรื่องตกหลุมรักผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียงชื่อว่า ซาแมนธา ซึ่งได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และนำมันมาปรับใช้กับความต้องการทางอารมณ์
นายเฟลิกซ์ จาง คาดว่า ในไม่ช้าผู้ใช้สมาร์ทโฟนก็ไม่จำเป็นต้องจับโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้งานอีกต่อไป แนวคิดของบริษัทก็คือการทำให้ฟังก์ชันต่าง ๆ สามารถเข้าถึงได้ด้วยการสั่งงานด้วยเสียง.