นักดื่มเฮ ญี่ปุ่นเตรียมปรับกฎหมายเบียร์ใหม่
ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ชื่นชอบดื่มเบียร์ ประเทศญี่ปุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความตามกฎหมายของเบียร์ และผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ทั้งหมดในญี่ปุ่น ต่างหาช่องทางเพื่อเรียกฐานลูกค้าที่กำลังลดลงให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งเปิดตัวสินค้าใหม่พร้อมรสชาติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นเพื่อกระตุ้นตลาดสินค้าเบียร์ที่กำลังซบเซา
สำหรับคำจำกัดความก่อนหน้านี้ของเบียร์ มีการระบุว่าเบียร์จำเป็นต้องผลิตจากน้ำและพืชฮ็อป รวมถึงส่วนประกอบของมอลต์ทั้งหมดแล้ว 67% หรือมากกว่า แต่สำหรับคำจำกัดความใหม่ระบุว่า จะมีการลดลงให้เหลือเพียง 50% นับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบ 110 ปี
นอกจากนี้ มีส่วนผสมอีกจำนวนมากที่ถูกเพิ่มและได้รับการอนุมัติให้เป็นวัตถุดิบรอง ซึ่งก่อนหน้านี้จะยังมีจำกัด ยกตัวอย่างเช่นธัญพืชอย่าง ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด โดยวัตถุดิบที่ถูกเพิ่มมาใหม่นั้นได้รวมไปจนถึง ผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร และดอกไม้ นอกเหนือไปจากนี้แล้ว ยังมีสาหร่าย หอยนางรม และฝอยปลาแห้งอีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความทำให้การผลิตเบียร์นั้นมีความยืดหยุ่นในการคิดค้นกลิ่นและรสที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังทำให้เครื่องดื่มที่ผสมวัตถุดิบรองอื่น ๆ สามารถวางขายอย่างเป็นทางการในฐานะเบียร์ได้อีกด้วย สำหรับคำจำกัดความเดิ่ม เครื่องดื่มที่มีมอล์ตผสมอยู่ในปริมาณที่ต่ำ จะถูกเรียกว่า ฮัปโปชู และจะมีราคาถูกกว่าเนื่องจากว่าถูกตั้งราคาภาษีที่น้อยกว่ามาก
สำหรับผู้บริโภค คำถามสำคัญก็คือว่าราคาของเครื่องดื่มต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นเนื่องจากคำจำกัดความใหม่นี้หรือไม่
คำตอบเท่าที่ทราบสำหรับตอนนี้คือ ไม่ ทางรัฐบาลได้วางแผนที่จะเพิ่มภาษีในเบียร์ให้สูงขึ้น และลดภาษีในฮัปโปชูให้ลดลง รวมถึงเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของมอลต์จะยังคงมีราคาเท่าเดิมภายนับจากปี 2569
แต่สำหรับตอนนี้ ผู้ผลิตเบียร์รายหลัก ๆ ต่างพยายามที่จะใช้ประโยชน์ดังกล่าวในการเปิตตัวผลิตภัณฑ์ใหม่และดึงดูดลูกค้าที่อายุน้อยลงให้มากยิ่งขึ้น
จิน โยชิโอกะ โฆษกของบริษัทอาซาฮี บริวเวอรีส์ ระบุว่า “ การเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของเบียร์ในทางกฎหมายถือเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่สำหรับการฟื้นฟูตลาดเบียร์ ” ซึ่งทำให้ทางอาซาฮีนั้น วางแผนที่จะสร้างการตลาดใหม่ ๆ อย่างอาซาฮี แกรน มาล์ยด์ หรือเบียร์ชนิดใหม่ที่ผสมด้วยตะไคร้ เพื่อสร้างความนุ่มมากขึ้นและรสชาติที่สดชื่นกว่าเดิม
สำหรับตัวเลขการส่งสินค้าเครื่องดื่มเบียร์ และเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของมอลต์ของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ภายในประเทศญ๊่ปุ่นทั้ง 5 ราย พบว่ามีการลดลงมาตลอดราว 10 ปีที่ผ่านมา
ในปี 2560 ตัวเลขการส่งสินค้านั้นลดลงอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 13 เป็นตัวการส่งออกทั้งหมด 404 ล้านลัง ซึ่งถือว่าลดลง 2.6% จากปีก่อน
โดยหลายปีที่ผ่านมา เบียร์นั้นถือเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้มีอายุ ไม่ดึงดูดต่อหนุ่มสาวสมัยใหม่ ซึ่งผลก็คือทำให้ตลาดซบเซาต่อเนื่องนั่นเอง.