ค้าปลีกญี่ปุ่นโตเดือนก.พ.
ตัวเลขค้าปลีกของญี่ปุ่นเติบโตในเดือนก.พ.เนื่องจากนักช้อปใช้จ่ายมากขึ้นกับอาหาร เครื่องดื่มและเสื้อผ้า ชี้ให้เห็นว่าค่าแรงที่ปรับขึ้นและตลาดแรงงานที่ตึงตัวหนุนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
แต่ยอดค้าปลีกของเดือนก.พ.ที่เติบโตขึ้น 1.6% ต่อปี ยังคงต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ย 1.7% ต่อปีจากนักวิเคราะห์อยู่เล็กน้อย แต่ปรับดีขึ้นจากตัวเลขเติบโต 1.5% ต่อปีในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มทำให้ราคาผู้บริโภคปรับสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นเห็นตัวเลขเงินเฟ้อ 2% ตามที่ตั้งเป้าไว้ แม้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินขั้นสุดจะยังคงอยู่ก็ตาม
“ การใช้จ่ายของผู้บริโภคดูจะเป็นช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ ” ฮิโรชิ มิยาซากิ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่ Mitsubishi UFJ Morgan Stanley Securities ให้ความเห็น
“ ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นส่วนช่วยสนับสนุน แม้การใช้จ่ายในสินค้าคงทนลดลง แต่การใช้จ่ายในสินค้าประเภทอื่นกำลังอยู่ในโมเมนตัมที่ดี ” เขากล่าว
การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเติบโตขึ้น 2.3% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับปีก่อน อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 29 มี.ค. และพุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับตัวเลข 2.0% ต่อปีในเดือนม.ค.
การใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าเติบโต 0.3% ต่อปีในเดือนก.พ. ฟื้นตัวดีดกลับขึ้นมาจากที่หดตัวลงไป 0.5% ต่อปีในเดือนม.ค.
ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงสินค้าคงทน เช่น เครื่องซักผ้าและตู้เย็น เติบโตขึ้น 4.6% ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับตัวเลขเติบโต 5.2% ในเดือนม.ค.
บริษัทรายใหญ่หลายแห่งของญี่ปุ่นตกลงร่วมกันเมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.ในการเจรจาประจำปีกับสหภาพแรงงานเพื่อปรับขึ้นค่าแรงเป็นปีที่ 5 โดยค่าแรงที่ปรับขึ้นจะส่งผลกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคและช่วยหนุนเงินเฟ้อที่ชะลอตัวของญี่ปุ่น แต่หลายบริษัทดูจะทำไม่ได้ตามเป้าของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะที่ตั้งเป้าว่าจะปรับขึ้นค่าแรงถึง 3% หรือมากกว่า
คาดการณ์ว่า สัดส่วนของการจ้างงานต่อการสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดความต้องการแรงงาน จะพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบสี่ทศวรรษในเดือนก.พ.
โดยข้อมูลในส่วนนี้จะมีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มี.ค.นี้
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคหลักของประเทศ ซึ่งรวมทั้งผลิตภัณฑ์น้ำมัน แต่ไม่รวมราคาอาหารสดที่ผันผวน เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามค่าประเมินเฉลี่ย อ้างอิงจากข้อมูลในสัปดาห์ที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มาตรวัดที่แคบขึ้นของราคาผู้บริโภค ที่ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน เพิ่มขึ้น 0.5% ต่อปีในเดือนก.พ. เน้นให้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวช้ามากอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมใหญ่ล้วนได้กำไรจากการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นของญี่ปุ่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ช่วยหนุนการค้าปลีก รัฐบาลจึงตั้งเป้าที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนญี่ปุ่นให้ได้ถึง 40 ล้านคนภายในปี 2563 และจะพยายามดึงนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ประเทศในเอเชียเข้ามามากขึ้นด้วย.