“อินเดีย”ตลาดอูเบอร์สุดท้ายในเอเชีย
อาณาจักรของอูเบอร์ในเอเชียเล็กลงเรื่อยๆจนเหลือเพียงอินเดียเป็นตลาดสุดท้ายแล้วในตอนนี้
โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค.อูเบอร์ประกาศขายธุรกิจใน 8 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Grab โดยอูเบอร์จะได้ถือหุ้น 27.5% ในบริษัทใหม่ที่ควบรวมกิจการ
โดยก่อนหน้านี้ อูเบอร์เคยขายกิจการในจีนให้ติตี้ฉูชิ่ง คู่แข่งรายใหญ่เมื่อปี 2559 และถอนตัวจากรัสเซียโดยขายกิจการให้ Yandex ในปี 2560 เช่นกัน
การประกาศดีลล่าสุด ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับตลาดอินเดียของอูเบอร์ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่อูเบอร์ลงทุนไปมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 31,400 ล้านบาทในช่วงเวลาที่ผ่านมา
อูเบอร์ต่อสู้อย่างหนักมานานหลายปีกับ Ola สตาร์ทอัพของอินเดียที่มีฐานอยู่ในเมืองบังกาลอร์ Ola เติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้มีคนขับมากกว่า 1 ล้านคนในอินเดีย และให้บริการใน 110 เมือง ขณะที่อูเบอร์ให้บริการเพียง 30 เมืองเท่านั้น
ทั้งนี้ Ola มีหุ้นส่วนกระเป๋าหนักซึ่งเป็นนักลงทุนที่อยู่เบื้องหลังคือซอฟต์แบงค์ กลุ่มทุนจากญี่ปุ่นที่ลงทุนในธุรกิจของ Grab และเมื่อเร็วๆนี้ก็เข้าซื้อหุ้นในอูเบอร์และติตี้ฉูชิ่ง ซึ่งเป็นคู่แข่งรายใหญ่ของอูเบอร์ในจีนมาก่อน จนอูเบอร์ต้องยอมแพ้และขายกิจการให้
โดยตลาดรถยนต์ร่วมโดยสารในอินเดียมีการแข่งขันสูงและไม่ทำกำไร อ้างอิงจาก Tom De Vleesschauwer นักวิเคราะห์การคมนาคมประจำบริษัทวิจัย IHS Markit
อูเบอร์มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชนในปี 2562 จึงมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นที่จะต้องทำกำไรให้มากขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่า อูเบอร์มีแนวโน้มจะขายกิจการของบริษัทในอินเดียในปีหน้า De Vleesschauwer ให้ความเห็น
แต่ซีอีโอ Dara Khosrowshahi ของอูเบอร์กล่าวในกรุงนิวเดลีเมื่อเดือนก.พ.ปีนี้ว่า “อินเดียเป็นตลาดที่สำคัญมาก ไม่เพียงแต่สำหรับธุรกิจของเราในวันนี้ แต่สำหรับธุรกิจของเราในอีก 5-10 ปีข้างหน้าด้วย”
และในวันที่ 26 มี.ค. Khosrowshahi กล่าวว่า บริษัทจะไม่ปิดกิจการในตลาดอื่นๆอีก
“อินเดียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งสุดท้ายของอูเบอร์นอกยุโรปและอเมริกาเหนือ พวกเขาต้องเก็บตลาดนี้ไว้” Satish Meena นักวิเคราะห์อาวุโสที่ Forrestor Research ให้ความเห็น
โดย Meena เปรียบเทียบการมุ่งเน้นที่ตลาดอินเดียกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งอื่นอย่างอเมซอน ซึ่งเทงบลงทุนนับพันล้านในอินเดีย เพื่อทำให้อินเดียเป็นหนึ่งในตลาดระหว่างประเทศชั้นนำ
มาซาโยชิ ซัน มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งซอฟต์แบงค์ เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของอูเบอร์ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ซอฟต์แบงค์เข้าถือหุ้น 15% ในอูเบอร์ ทำให้เขากลายเป็นศูนย์กลางของการลงทุนในตลาดรถร่วมโดยสารผ่านแอปพลิเคชันไปแล้ว
หมิง หม่า ประธานบริษัท Grab กล่าวกับสื่อรอยเตอร์เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ว่า ซันเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญของดีลการขายอูเบอร์ให้ Grab.