ปิดไฟ Earth Hour ทั่วโลก
อาคารโอเปรา เฮาส์ในนครซิดนีย์และสะพานฮาร์เบอร์มืดมิดอยู่นานนับชั่วโมงในคืนวันที่ 24 มี.ค. เพื่อเป็นการเริ่มต้นแคมเปญที่ให้ทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Earth Hour เป็นแคมเปญที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2550 และมีผู้สนับสนุนนับล้านคนใน 187 ประเทศ โดยจะมีการปิดไฟในเวลา 20.30 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นความเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้าที่ใหญ่ที่สุดสำหรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ แคมเปญนี้มีเป้าหมายเพื่อปลุกความตื่นรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชีวิตสัตว์ป่า” Dermot O’Gorman จาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายจัดงาน Earth Hour กล่าว
เมื่อถึงเวลา 20.30 น.ทั่วเอเชีย เส้นขอบฟ้าในสิงคโปร์ มาเลเซียและฮ่องกงก็มืดลง
สถานที่สำคัญอื่นๆทั่วโลกที่เข้าร่วมในแคมเปญ Earth Hour นี้มีทั้ง อาคารสนามกีฬารังนกในกรุงปักกิ่งของจีน หอไอเฟลในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ปิรามิดในอียิปต์และตึกเอ็มไพร์สเตทในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
ในกรุงปารีส หอไอเฟลอยู่ในความมืดเมื่อประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงกระตุ้นประชาชนให้เข้าร่วมและแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะต่อสู้เพื่อธรรมชาติ
“ เวลาของการเมินเฉยเป็นอดีตไปแล้ว เรากำลังพ่ายแพ้ไม่เพียงแต่ในการต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง แต่ยังรวมถึงการต่อสู้กับการล่มสลายของความหลากหลายทางชีวภาพ” เขากล่าวบนทวิตเตอร์
สำนักข่าว Ria Novisti รายงานว่า จตุรัสแดงในมอสโกก็ตกอยู่ในความมืดเช่นกัน และในภาคส่วนรัสเซียของสถานีอวกาศนานาชาติก็ปิดไฟเช่นกัน
ภาพทั่วเอเชียแสดงให้เห็นถึงอาคารสูงมากมาย ทั้งตึกแฝดปิโตรนาสในกัวลาลัมเปอร์ และตึกสูงที่เรียงรายอยู่ริมอ่าวฮ่องกงและสิงคโปร์ ล้วนพากันดับไฟเป็นสัญลักษณ์ของแคมเปญนี้
Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า แคมเปญนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่มีแรงกดดันครั้งใหญ่กับประชาชนและโลกของเรา
“ ทรัพยากรและระบบนิเวศทั่วโลกกำลังถูกทำลาย Earth Hour เป็นโอกาสที่จะแสดงให้เห็นถึงการแก้ไขปัญหาของเราเพื่อการเปลี่ยนแปลง”
ด้วยอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นทำสถิติสูงสุด O’Gorman กล่าวว่า ธีมในปีนี้คือ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและสัตว์
“ มากกว่าครึ่งของพืชและสัตว์ต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ในท้องถิ่น ในบางพื้นที่ของโลกที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ หากเรายังอยู่ในระดับเดิมกับที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ” เขากล่าว
โดยสัตว์ที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์คือเต่าสีเขียวออสเตรเลีย ตัววอลลาบีและโคอาลา รวมทั้งเพนกวินอาเดลีในแอนตาร์กติก กลุ่มอนุรักษ์ระบุในรายงานที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Climate Change
บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วระบุว่า บริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออเมซอน ป่าดิบชื้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และป่ามิออมโบในแอฟริกาใต้
Dianna Ali ซึ่งอาศัยอยู่ในซิดนีย์ เธอรับประทานอาหารค่ำกับครอบครัวในเวลาที่ไฟทั้งเมืองดับลง เธอกล่าวว่า การสร้างสรรค์แคมเปญนี้ทำให้เธอตระหนักมากขึ้นถึงผลกระทบของการใช้ชีวิตของเธอที่มีต่อสุขภาพของพื้นที่โลกนี้
“ ตั้งแต่ Earth Hour เริ่มต้นขึ้น ทำให้ฉันตระหนักมากขึ้นว่าฉันใช้พลังงานไปมากแค่ไหน” เธอกล่าวกับสื่อ AFP
“ ฉันคิดว่าเราแต่ละคนสามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นได้”.