“มาร์ค”ขอโทษเรื่องข้อมูลรั่ว
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊กออกมาขอโทษที่ที่มีข่าวฉาวเรื่องข้อมูลรั่วเกี่ยวกับบริษัท Cambridge Analytica ที่กลายเป็นข่าวพาดหัวทั่วโลกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
“ นี่เป็นการรั่วไหลของความเชื่อถือ และผมต้องขอโทษจริงๆที่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น” ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNN เมื่อคืนวันที่ 21 มี.ค.โดยมีการชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในแถลงการณ์ที่เขาโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ มีหลายโพสต์ที่ประชาชนต่างวิจารณ์ซัคเคอร์เบิร์กบนโซเชียลมีเดียในประเด็นที่เขาไม่ออกมาขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ซัคเคอร์เบิร์กเหมือนโดนระเบิดลงเมื่อมีรายงานตีพิมพ์ใน The Observer และนิวยอร์คไทม์ตลอดทั้งสัปดาห์เกี่ยวกับบริษัทข้อมูล Cambridge Analytica ซึ่งมีสำนักงานในกรุงลอนดอน ที่มีการนำเอาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก 50 ล้านคนมาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด
หลังจากมีข่าวฉาวเกิดขึ้น ราคาหุ้นของเฟซบุ๊กก็ดิ่งร่วง ทางการสหราชอาณาจักรเริ่มทำการสอบสวน และส.ส.สหรัฐฯ เรียกร้องให้ซัคเคอร์เบิร์กเข้าให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการของสภาเพื่อชี้แจงการหาประโยชน์จากข้อมูล
ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวกับสื่อ CNN ว่า เขาตั้งใจจะเข้าให้ปากคำต่อหน้าสภาคองเกรส แม้ว่าเขาเลี่ยงที่จะปรากฎตัวก็ตาม
“ สิ่งที่เราพยายามจะทำคือส่งคนที่เฟซบุ๊กซึ่งรู้รายละเอียดทั้งหมดไปแทน หากเป็นผม ผมก็ยินดีที่จะไป”
หนึ่งในประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่องฉาวนี้คือ เฟซบุ๊กได้ทำอะไรเพียงพอหรือยังที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน
ในปี 2556 Aleksandr Kogan นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Thisisyourdigitallife ที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กประมาณ 300,000 คน รวมถึงเพื่อนๆของพวกเขาด้วย
เฟซบุ๊กเปลี่ยนนโยบายในปี 2557 เพื่อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของแอปพลิเคชันบุคคลที่ 3 แต่ยังคงมีคนนับสิบล้านที่ไม่รู้เลยว่า แอปของ Kogan ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของพวกเขาไว้ตั้งแต่แรก หรือได้ส่งต่อข้อมูลไปให้บริษัท Cambridge Analytica
ในปี 2558 เมื่อเฟซบุ๊กทราบว่า Cambridge Analytica ได้รับข้อมูลจาก Kogan จึงได้บอกให้บริษัทลบข้อมูลที่ได้มาทั้งหมด แต่มีรายงานเมื่อเร็วๆนี้ที่ชี้ว่าบริษัทไม่ได้ทำเช่นนั้น
Cambridge Analytica ได้รับการว่าจ้างจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ให้ทำงานสนับสนุนแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯให้เขาในปี 2559 โดยผ่านการลงโฆษณาในเฟซบุ๊ก แต่บริษัทปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้ข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่ได้รับมาจาก Kogan
ก่อนหน้านี้ในวันที่ 21 มี.ค.เฟซบุ๊กกำหนด 6 ขั้นตอนที่จะใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต ซึ่งรวมถึงการปิดการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งาน หากไม่มีการใช้งานใน 3 เดือน จำกัดข้อมูลการล็อกอินเฟซบุ๊กที่เชื่อมโยงไปที่ชื่อบุคคล รูปโปรไฟล์ และอีเมลแอดเดรส และสอบสวนแอปอื่นๆที่เก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก
“ มันยากที่จะรู้ว่าเราจะเจออะไรบ้าง แต่เรากำลังทบทวนตรวจสอบหลายพันแอป” ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวกับสื่อ CNN “ นี่จะเป็นกระบวนการที่เข้มงวด”
เพื่อให้แน่ใจว่าเฟซบุ๊กได้เตรียมพร้อมเพื่อป้องกันการแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐฯและประเทศอื่นในปีนี้ เฟซบุ๊กได้เพิ่มจำนวนคนทำงานในทีมปฏิบัติการด้านชุมชนและความปลอดภัยเป็นมากกว่า 20,000 คนภายในสิ้นปี 2561 นี้.