ฟินแลนด์ขึ้นแท่นมีความสุขที่สุดในโลก

อ้างอิงจากแบบสำรวจประจำปีที่มีการเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ระบุว่า ประเทศฟินแลนด์ ขึ้นแท่นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก และสาธารณรัฐบุรุนดีอยู่อันดับสุดท้ายของดัชนีความสุข รวมถึงพบว่าชาวอเมริกันนั้นกำลังมีความสุขลดน้อยลงแม้ว่าประเทศสหรัฐฯจะร่ำรวยมากขึ้นก็ตาม
รายงานเกี่ยวกับอันดับความสุขของโลกประจำปี 2561 ที่จัดโดยเครือข่ายการแก้ปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDSN จากสหประชาชาติ ประกอบด้วยประเทศทั้งหมด 156 ประเทศ ซึ่งมีการอ้างอิงข้อมูลจากหลายส่วน เช่น GDP ต่อคน การสนับสนุนทางสังคม อายุขัยเฉลี่ย เสรีภาพทางสังคม การไร้ซึ่งความเห็นแก่ตัวและปราศจากคอรัปชัน
ประเทศฟินแลนด์ ไต่อันดับขึ้นจากอันดับที่ 5 ในปีก่อน แซงหน้าประเทศนอร์เวย์จนกลายเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังคงอยู่ใน10 อันดับแรกของปี 2561 ซึ่งสำหรับ 10 อันดับแรกนั้นประกอบด้วย ประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
สำหรับประเทศสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 34 ในขณะที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 35 ซึ่งปีก่อนประเทศสิงคโปร์นั้นอยู่ที่อันดับ 26 จากทั้งหมด 155 ประเทศ
ประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นอันดับ 18 หล่นลงจากอันดับที่ 14 ในปีก่อน ส่วนประเทศอังกฤษนั้นอยู่ในอันดับที่ 19 และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ที่อันดับ 20
ข้อความตอนหนึ่งจากรายงาน 170 หน้านั้น มีการกล่าวถึงปัญหาฉุกเฉินด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคซึมเศร้า และวิกฤตการระบาดของกลุ่มยาโอปิออยด์ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีปัญหาทั้งสามเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าประเทศอื่น ๆ
ในขณะที่รายได้ต่อคนในสหรัฐฯ นั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่ทางด้านดัชนีความสุขนั้นได้รับผลกระทบจากเครือข่ายส่งเสริมสังคมที่อ่อนแอลง การรับรู้เกี่ยวกับการคอรัปชันในรัฐบาลและธุรกิจที่มากขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นในสถาบันของรัฐที่ลดลง
การทำผลสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จัดอันดับความสุขของผู้อพยพที่เกิดในต่างประเทศ ทั้ง 117 ประเทศ นับตั้งแต่มีการจัดอันดับในปี 2555 ที่ใช้องค์กรหลากหลายในการทำผลสำรวจ ทั้งตัวเลขอย่างเป็นทางการและวิธีการค้นคว้า
ประเทศฟินแลนด์เองก็สามารถคว้าอันดับ 1 ในหมวดนี้เช่นเดียวกัน ทำให้กลายเป็นประเทศที่มีสถานะทางสถิติดีเยี่ยม
สำหรับประเทศที่ผู้อพยพมีความสุขน้อยที่สุดนั้นคือประเทศซีเรีย ซึ่งยังคงตกอยู่ในสงครามกลางเมืองมาเป็นเวลานานกว่า 7 ปี
ศาสตราจารย์จอห์น เฮลลิเวล จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ในแคนาดาระบุว่า “ สิ่งที่เห็นชัดที่สุดในการศึกษาเกี่ยวกับรายงานในครั้งนี้ คือความคงที่ โดยเฉพาะระหว่างความสุขของผู้อพยพ และผู้ที่เติบโตในแหล่งพื้นที่นั้นเอง ”
“ แม้ว่าผู้อพยพจะมาจากประเทศที่มีระดับความสุขแตกต่างกัน แต่การประเมินค่าชีวิตของพวกเขานั้นขึ้นอยู่และเปลี่ยนแปลงตามผู้อยู่อาศัยในประเทศใหม่ของพวกเขา ”
“ ผู้ที่ย้ายไปยังประเทศที่มีความสุขก็จะได้รับความสุข ในขณะที่ผู้ที่ย้ายไปยังประเทศที่มีความสุขน้อยกว่าก็จะสูญเสียความสุขไป ”