สตีเฟน ฮอว์คิง เสียชีวิตแล้วในวัย 76 ปี
ทางตัวแทนของครอบครัวได้ระบุเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า ศาสตราจารย์สตีเฟน ฮอว์คิง เสียชีวิตลงแล้วในวัย 76 ปี
สตีเฟน วิลเลียม ฮอว์คิง นักจักรวาลวิทยาผู้น่านับถือ เป็นที่รู้จักและเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนทั่วโลก เนื่องจากความอัจฉริยะจากภายใน และความพิการทางร่างกายของเขา ผลงานของเขามีตั้งแต่ แหล่งกำเนิดของจักรวาล รวมถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางข้ามเวลา ไปจนกระทั่งความลึกลับของหลุมดำที่สามารถกลืนกินทุกอย่างบนจักรวาลได้
ด้านลูซี โรเบิร์ต และทิม ลูกของศาสตราจารย์ฮอว์คิงได้ระบุผ่านแถลงการณ์ที่ได้รับการเผยแพร่โดยสำนักงานข่าว Press Association หรือ PA ของอังกฤษ ระบุว่า “เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เมื่อพ่อซึ่งเป็นที่รักของเราได้จากไปในวันนี้”
“เขาคือนักวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมและชายที่พิเศษกว่าใคร โดยผลงานและมรดกทางปัญญาของเขาจะคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน”
“ความกล้าหาญและความพยายาม บวกกับความเป็นอัจฉริยะและมีอารมณ์ขันของเขา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนทั่วโลก”
“พ่อเคยพูดว่า ‘จักรวาลคงไม่ได้สำคัญนัก หากมันไม่ใช่บ้านของคนที่คุณรัก’ เราจะคิดถึงเขาตลอดไป”
ฮอว์คิงท้าทายคำวินิจฉัยที่ระบุว่า เขาจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เพียงไม่กี่ปีหลังจากที่โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS เริ่มลุกลามไปทั่วร่างกายจนทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่บนวีลแชร์เท่านั้น
โรคดังกล่าวทำให้เขาทำงานได้ยากขึ้น รวมถึงยังทำลายความสัมพันธ์ในการแต่งงานของเขาถึง 2 ครั้ง โดยเขาได้ระบุผ่านอัตชีวประวัติชื่อ My Brief History ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2556
หนังสืออัตชีวประวัติเขาได้พูดถึงการวินิจฉัยครั้งแรกของเขา “ผมรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมมาก ๆ ทำไมมันถึงเกิดขึ้นกับผม”
“ในตอนนั้น ผมคิดว่าชีวิตของผมจบสิ้นลงแล้ว และผมคงไม่ได้รับรู้ถึงศักยภาพของผมที่ผมเคยมี แต่ตอนนี้ 50 ปีต่อมา ผมค่อนข้างจะพอใจกับชีวิตของผมเลยทีเดียว”
ศาสตราจารย์ฮอว์คิงสร้างชื่อเสียงระดับโลกหลังจากที่ตีพิมพ์หนังสือ ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) ในปี 2531 ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือที่ซับซ้อนมากที่สุดที่เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ โดยติดอันดับหนังสือขายดีของ Sunday Times ไม่ต่ำกว่า 237 สัปดาห์
เขาระบุว่า เขาเขียนหนังสือเพื่อที่จะสื่อให้เห็นถึงความตื่นเต้นของเขาในการค้นพบครั้งล่าสุดเกี่ยวกับจักรวาล
เขาระบุกับทางนักข่าวในตอนนั้นว่า “ความต้องการแต่เดิมของผมคือเขียนหนังสือที่จะวางอยู่บนชั้นขายหนังสือในสนามบิน สำหรับการที่ผมจะมั่นใจได้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเข้าใจได้ง่าย ผมได้พยายามให้พยาบาลของผมอ่านดู ผมว่าพวกเขาเข้าใจเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว”