เศรษฐกิจรัสเซียยังผันผวน
กำลังซื้อของรัสเซียลดลงอย่างต่อเนื่องใน 4 ปีล่าสุด หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังถูกนานาชาติคว่ำบาตรเพื่อเป็นการลงโทษรัสเซียที่ผนวกรวมแคว้นไครเมียเข้าเป็นดินแดนของตัวเองในปี 2557 และในปี 2559 ก็ถูกราคาน้ำมันที่ตกต่ำทั่วโลกซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศอีก
อัตราความยากจนของประเทศ ซึ่งลดลงจาก 29% ในปี 2543 มาอยู่ที่ 10.7% ในปี 2555 ดีดกลับขึ้นมาเป็น 13.5% ในปี 2559 อ้างอิงจากตัวเลขทางการประจำปี
สถานการณ์ในรัสเซียย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนทั่วไปมีเงินเดือนต่ำมากและครอบครัวหนุ่มสาวต้องใช้เงินบำนาญหลังเกษียณของพ่อแม่มาช่วยจุนเจือครอบครัว
จากผลการศึกษาของธนาคาร Credit Suisse คนที่ร่ำรวยที่สุด ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวนประชากรในรัสเซีย มีทรัพย์สินมากเป็น 77% ของทรัพย์สินในประเทศ ทำให้รัสเซียมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับเดียวกับสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
“ระหว่างปี 2543 – 2556 รัฐบาลไม่จำเป็นต้องกังวลมากนักเกี่ยวกับเศรษฐกิจ” Chris Weafer ประจำบริษัทที่ปรึกษา Macro Advisory กล่าว “ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น รวมกับรายได้ที่เติบโตขึ้นและเครดิต ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยไม่ต้องมีการแทรกแซงมากนักจากรัฐบาล”
แต่รูปแบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาพลังงานซึ่งราคาทรุดตัวลงทำให้ประเทศเข้าสู่ทางตันในเวลาต่อมา “ซึ่งไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงวิถีชีวิตของประชาชน หรือเป็นกองทุนด้านการศึกษา ประกันสุขภาพ และอื่นๆ” Weafer กล่าว
ถึงแม้ความยากจนดูจะไม่ส่งผลกระทบมากนักกับความนิยมในตัวประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินจากประชาชนในประเทศ แต่ผู้นำรัสเซียกล่าวสุนทรพจน์ถึงปัญหานี้เมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ โดยเขาให้คำมั่นว่าจะลดตัวเลขความยากจนที่ ‘ยอมรับไม่ได้’ ลงครึ่งหนึ่งภายใน 6 ปี และหนุนตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจขึ้นเป็น 4%
แต่ขณะที่เขาสัญญาเรื่องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพและที่อยู่อาศัย แต่เขาไม่สามารถให้รายละเอียดได้ว่าจะหาเงินงบประมาณมาจากไหน และไม่ได้เอ่ยถึงการปฏิรูปใดๆในอนาคต
“ในทศวรรษล่าสุด เราได้ยินแต่คำหวานเรื่องการปฏิรูป ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริง” Neil Shearing นักเศรษฐศาสตร์ที่ Capital Economics กล่าว
Natalia Orlova นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคาร Alfa กล่าวว่า การเติบโตในปีที่แล้วเป็นผลมาจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น ท่อก๊าซโรงไฟฟ้าไซบีเรีย และสะพานเชื่อมคาบสมุทรไครเมียกับรัสเซีย “ยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดคือการมุ่งเน้นที่เสถียรภาพงบประมาณ เพราะการคว่ำบาตรส่งผลร้ายกับส่วนที่เหลือ” เธอกล่าวกับสื่อ AFP
รัฐบาลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อต่ำในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางคงนโยบายการคลังและการเงินที่เข้มงวด ซึ่งหลายคนกล่าวว่า ทำร้ายเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ.