เยอรมนีเล็งใช้รถสาธารณะฟรี
เยอรมนีซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ทำความประหลาดใจให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วยการเสนอแผนลดการจราจรที่แออัดคับคั่งด้วยการให้บริการรถสาธารณะฟรี เนื่องจากเยอรมนีต้องการทำให้ได้ตามเป้าการลดมลพิษในอากาศของสหภาพยุโรป (EU)
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากเมื่อสองปีก่อน เกิดเหตุอื้อฉาวจากการโกงค่าปล่อยไอเสียของรถยนต์แบรนด์โฟล์คสวาเกนที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจไปทั่วอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นหัวใจของความมั่งคั่งของเยอรมนี
“ เรากำลังพิจารณาการให้บริการรถขนส่งสาธารณะฟรี เพื่อเป็นการลดจำนวนการใช้งานรถยนต์ส่วนบุคคลลง ” รัฐมนตรีสามกระทรวงรวมทั้ง Barbara Hendricks รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมร่างเป็นจดหมายยื่นต่อ Karmenu Vella ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของอียู อ้างอิงจากการรายงานของสื่อ AFP เมื่อวันที่ 13 ก.พ.
“ การสู้กับมลภาวะอย่างมีประสิทธิภาพไม่ควรถูกทำให้ล่าช้าโดยไม่จำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุดเพื่อเยอรมนี ” บรรดารัฐมนตรีเสริม
โดยข้อเสนอนี้จะได้รับการทดสอบภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างช้าที่สุดใน 5 เมืองทางตะวันตกของเยอรมนี รวมทั้งเมืองหลวงอย่างเป็นทางการคือบอนน์และเมืองอุตสาหกรรมอย่าง Essen และ Mannheim
นอกจากข้อเสนอให้มีบริการขนส่งสาธารณะฟรีแล้ว ยังมีข้อเสนออื่นๆ อีก ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเข้มงวดกับการปล่อยไอเสียของรถโดยสารและรถแท็กซี่ มีเขตมลพิษต่ำ หรือสนับสนุนให้มีบริการรถร่วมโดยสาร
โดย Vella ประธานคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของอียูให้เวลาเพิ่มกับหลายประเทศเพื่อนำเสนอมาตรการกำจัดมลพิษ หรือถ้าไม่เช่นนั้นก็ต้องเจอกับมาตรการทางกฎหมาย
มลภาวะร้ายแรงเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบกับเมืองต่างๆ มากกว่า 130 เมืองทั่วยุโรป อ้างอิงจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการ มลพิษในอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 400,000 รายและต้องสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขถึง 20,000 ล้านยูโร หรือราว 788,000 ล้านบาท ในแต่ละปี
หากประเทศใดไม่สามารถทำตามข้อจำกัดของอียูได้ จะต้องถูกพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมแห่งยุโรป ซึ่งเป็นศาลสูงสุดที่สามารถสั่งปรับประเทศสมาชิกได้
แม้ว่าจะไม่มีการกดดันจากทางบรัสเซลส์ แต่การควบคุมคุณภาพอากาศเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกๆของเยอรมนีในปีที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง BMW, เดมเลอร์ ผู้ผลิตรถยนต์เมอร์เซเดสเบนซ์ หรือ โฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกตกลงที่จะจ่ายเงินจำนวน 250 ล้านยูโรเพื่อจัดตั้งกองทุนพันล้านยูโรเพื่อยกระดับการคมนาคมขนส่งในประเทศ
กลุ่มกรีนพีซกระตุ้นว่า รัฐบาลต้องทำให้แน่ใจว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะสนับสนุนด้านการเงินให้กับมาตรการฉุกเฉินของบริการขนส่งสาธารณะฟรี โดยเสริมว่า การเพิ่มจำนวนที่จอดรถและโทลล์เวย์ในเมืองอาจช่วยลดการจราจรในเมืองได้
บริการขนส่งสาธารณะได้รับความนิยมมากในเยอรมนี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ตั๋วโดยสารในเยอรมนีมีราคาถูกกว่า โดยตั๋วรถไฟเที่ยวเดียวในเบอร์ลินมีราคา 2.90 ยูโร (114 บาท) เมื่อเปรียบเทียบกับตั๋วรถไฟในลอนดอนที่ราคา 4.90 ปอนด์ (220 บาท)
แต่หลายเมืองเตือนว่าต้องมีการวางแผนที่ดีหากการเดินทางฟรีประสบความสำเร็จ โดย Ashok Sridharan นายกเทศมนตรีเมืองบอนน์กล่าวกับสื่อ DPA ว่า “ ผมไม่รู้ว่าผู้ผลิตรายใดที่จะส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมากเท่าที่เราต้องการ เพื่อขานรับกับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นหากบริการขนส่งสาธารณะเป็นของฟรี ”