กูเกิลรายได้ทะลุแสนล้าน
บริษัทอัลฟาเบท บริษัทแม่ของกูเกิล รายงานเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ว่า บริษัทมียอดขายประจำปีสูงถึงระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.15 ล้านล้านบาท เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมานาน 20 ปี
โดยบริษัทโพสต์ยอดขาย 32,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.01 ล้านล้านบาท) ในไตรมาส 4 ซึ่งช่วยหนุนให้รายรับประจำปีของบริษัทสูงทะลุ 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.47 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากเดิม 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2559
อย่างไรก็ตาม รายได้ที่สูงขนาดนี้ทำให้บริษัทต้องสูญเงินจำนวนมากเช่นกัน โดยบริษัทต้องจ่ายภาษีมากถึง 9,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (312,444 ล้านล้านบาท) เนื่องจากภาษีฉบับใหม่ที่กลายเป็นกฎหมายตั้งแต่เดือนธ.ค.ที่ผ่านมา โดยภาษีที่บริษัทต้องจ่ายก้อนมหาศาลนี้ถือเป็นภาษีจ่ายครั้งเดียวสำหรับรายได้ที่บริษัทนำกลับคืนมาจากต่างประเทศ บริษัทอื่น เช่น ไมโครซอฟต์ก็ต้องจ่ายภาษีจำนวนมากเช่นเดียวกัน มีรายงานว่า ไมโครซอฟต์ต้องจ่ายภาษีสูงถึง 13,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (435,528 ล้านบาท)
หุ้นของอัลฟาเบทร่วงลงมา 5% ไม่กี่ชั่วโมงหลังรับทราบรายงานรายได้ของบริษัท ก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมา
บริษัทยังประกาศว่า John Hennessy ซึ่งเป็นสมาชิกบอร์ดบริหารมานาน จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัทอัลฟาเบท โดย Hennessy จะมาแทนที่ Eric Schmidt อดีตซีอีโอของกูเกิล ซึ่งประกาศว่ามีแผนจะลงจากตำแหน่งประธานในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้ อเมซอนทำยอดขายทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในปี 2558 ขณะที่แอปเปิลทำได้ตั้งแต่ปี 2554 และในปัจจุบันแอปเปิลสามารถทำรายได้สูงเกือบแสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสเดียว
หลักสำคัญคือข้อพิสูจน์ความแข็งแกร่งของธุรกิจขายโฆษณาของกูเกิล ซึ่งยังคงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วแม้บริษัทจะเผชิญกับความขัดแย้งเกี่ยวกับการซื้อโฆษณาจากรัสเซียเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2559 และ วิดีโอที่มีเนื้อหารุนแรงในยูทูบ
โดยงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัลของลูกค้าในสหรัฐฯ ถูกเทมาที่กูเกิลและเฟซบุ๊กมากกว่า 60% ในปี 2560 อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัย eMarketer และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่โฆษณายังคงเป็นสัดส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของยอดขายของอัลฟาเบท แต่บริษัทสามารถพบช่องทางใหม่ๆ ในการทำเงินในปีนี้ได้อีก
โดยอัลฟาเบทโพสต์รายได้อื่นๆ ของกูเกิลที่สูงถึง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (473,400 ล้านบาท) ทั้งจากธุรกิจบริการคลาวด์และสินค้าฮาร์ดแวร์ เช่น โทรศัพท์ Pixel และลำโพงอัจฉริยะ กูเกิลโฮม อัลฟาเบทยังคงไปได้ดีตามหลังธุรกิจคลาวด์ของอเมซอน และธุรกิจฮาร์ดแวร์ของแอปเปิล.