เอเชียเป็นประชาธิปไตยน้อยลง
เอเชียจบปี 2560 ลงด้วยความเป็นประชาธิปไตยที่ลดน้อยลงกว่าช่วงต้นปี
การประเมินเสรีภาพประจำปีของ Economisi Intelligence Unit ( EIU) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจระดับโลกของนิตยสาร The Economist ทั้ง 167 ประเทศระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีประชาธิปไตยลดลงมากที่สุดใน 7 ภูมิภาคในปี 2560 หลังจากเคยอยู่ในอันดับที่ดีกว่านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
จากรายงานของบริษัทที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 ม.ค. เอเชียได้คะแนนรวมเพียง 5.63 น้อยกว่าอเมริกาเหนือที่ได้ 8.56 คะแนน ขณะที่ยุโรปตะวันตกได้ 8.38 คะแนน และลาตินอเมริกาได้ 6.26 คะแนน
ทุกปี บริษัทจะมีการวิเคราะห์โดยตัดสินประเทศต่างๆจาก 5 หัวข้อ คือ กระบวนการเลือกตั้งและประชานิยม , เสรีภาพของพลเมือง, การทำหน้าที่ของรัฐบาล, การมีส่วนร่วมทางการเมือง และวัฒนธรรมการเมือง โดยชาติต่างๆจะถูกจัดอันดับภายใต้ระบอบการปกครองของรัฐบาล 4 แบบคือ ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ , ประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ , การปกครองแบบผสมและระบอบเผด็จการ
โดยในเอเชีย ในรายงานพบว่า มีเพียงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เท่านั้นที่ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกัน EIU ระบุว่า สองประเทศที่เป็นประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอย่างอินเดียและอินโดนีเซีย กลับได้คะแนนลดลงทั้งคู่ โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจาก ‘อุดมการณ์ทางศาสนาแบบอนุรักษ์นิยม’ ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อินเดียตกจากอันดับที่ 32 ในปี 2559 ลงมาอยู่ในอันดับที่ 42 ขณะที่อินโดนีเซียหล่นฮวบจากอันดับที่ 48 ลงมาอยู่ที่ 68
ในปีที่แล้ว ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย ส่งผลทำให้มีการจับกุมผู้ว่าการกรุงจาการ์ตาคือนายบาสุกิ จาฮารา ปุรนามาในข้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลาม ( เขาเป็นผู้ว่าการคนแรกในรอบ 50 ปีที่นับถือศาสนาคริสต์) ถือเป็นการแสดงออกของเสรีภาพพลเมืองในประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรายงานระบุว่า การใช้กฎหมายดูหมิ่นอย่างเคร่งครัดบ่อยครั้งที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก
ขณะที่อินเดียต้องประสบกับการโจมตีของม็อบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชายขอบ ซึ่งมีทั้งชาวมุสลิมและกลุ่มจัณฑาล หรือ Dalits ซึ่งถูกเหยียดหยามว่าอยู่ต่ำสุดในสังคมที่มีวรรณะอย่างอินเดียตลอดทั้งปี 2560
ความเข้มแข็งของกลุ่มฝ่ายขวาซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ปกครองประเทศทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ศาลเตี้ย’ คือการใช้ความรุนแรงตัดสินผู้อื่นโดยพลการ โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยและคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่าง อ้างอิงจากรายงาน
นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นว่าประเทศเมียนมา กัมพูชา และเวียดนามยิ่งจมลึกลงไปในระบอบเผด็จการมากยิ่งขึ้นในปี 2560 ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
เสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งที่ในรายงานให้ความสำคัญเช่นกัน โดย EIU ระบุว่าประเทศจีน เกาหลีเหนือ และลาว ‘เป็นหลุมดำสำหรับข่าวสารและข้อมูลที่เป็นอิสระ’.