เจ้าชายมหาเศรษฐีซาอุฯ ถูกปล่อยตัว
เจ้าชายมหาเศรษฐีและผู้ทรงอิทธิพลแห่งซาอุดิอาระเบียซึ่งถูกจับกุมจากการปราบปรามและกวาดล้างการคอร์รัปชันครั้งใหญ่เมื่อ 3 เดือนก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 27 ม.ค.อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเจ้าชาย
เจ้าชายอัลวาลีด บิน ทาลาลทรงเป็น 1 ใน 17 เจ้าชายและเจ้าหน้าที่รัฐอาวุโสที่ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ในการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย
โดยเจ้าชายอัลวาลีด ซึ่งเป็นพระนัดดาของผู้ก่อตั้งประเทศซาอุดิอาระเบียคือ กษัตริย์อับดุลาซิส อัล ซาอุด ทรงถูกคุมขังอยู่ในโรงแรมริตซ – คาร์ลตัน ในกรุงริยาดในระหว่างการควบคุมตัวของรัฐบาล พระองค์ทรงไม่มีตำแหน่งใดๆในคณะรัฐบาล แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งทางนิตยสารฟอร์บสเคยมีการประเมินว่าสูงกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 536,520 ล้านบาท และประวัติการลงทุนของพระองค์ ทำให้เจ้าชายทรงเป็นบุคคลสำคัญและทรงอิทธิพลในประเทศบ้านเกิด
ยังไม่มีความชัดเจนว่า ทำไมและด้วยสถานการณ์ใดที่ทำให้มีการปล่อยตัวเจ้าชายออกมา โดย 3 สัปดาห์หลังการปราบปราม เจ้าชายไมเทบ บิน อับดุลลาห์ทรงได่้รับการปล่อยตัวออกมาก่อน แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกล่าวกับสื่อ CNN
เจ้าชายอัลวาลีดทรงเริ่มต้นการทำธุรกิจในปี 2522 โดยทรงลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในซาอุฯ แต่ทรงเปลี่ยนเป็นการลงทุนด้านการเงินไม่นานหลังจากนั้น
เจ้าชายทรงเป็นที่จับตามองของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในสหรัฐฯ เนื่องจากทรงเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของซิตี้กรุ๊ปในปี 2531 ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกจนหุ้นของธนาคารดิ่งร่วง พระองค์ทรงถือหุ้นเพิ่มเพื่อแสดงถึงความเชื่อมั่น ทำให้ซิตี้กรุ๊ปสามารถพลิกฟื้นมาได้จากสถานการณ์ที่เลวร้ายย่ำแย่
ในประเทศซาอุฯ เจ้าชายอัลวาลีดทรงสนับสนุนที่จะให้ผู้หญิงมีอิสรภาพมากขึ้น รวมถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกการห้ามผู้หญิงขับรถยนต์ ทำให้ทางพระราชวังมีการประกาศอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถยนต์ได้ในเดือนก.ย.ปี 2560
กษัตริย์ซัลมันทรงมีคำสั่งให้เริ่มมีการปราบปรามการทุจริตอย่างเด็ดขาดจริงจัง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศของรัฐบาล อ้างอิงจากแถลงการณ์ของกระทรวงสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
หลังจากมีการจับกุมในการปราบปรามคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายระดับสูงกล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่า มีเงินจำนวนอย่างน้อย 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.15 ล้านล้านบาท) ที่หายไปเพราะกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันและยักยอกในรอบหลายทศวรรษ
โดยซาอุฯใช้เงินที่เรียกคืนจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงและบรรดาเจ้าชายที่ถูกจับกุมในการปราบปรามคอร์รัปชันเพื่อทดแทนและเยียวยาความเสียหายของระบบ
ทั้งนี้ คณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชันของซาอุฯ ที่นำโดยมกุฎราชกุมารโมฮัมเมด บิน ซัลมันเป็นหน่วยงานที่วางแผนการเข้าจับกุมตัวบรรดาเจ้าชาย พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังกษัตริย์และเป็นผู้สนับสนุนการปฏิรูปประเทศ โดยซาอุฯ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Vision 2030 ที่จะพยายามสร้างรายได้จากเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเพียงอย่างเดียว และการปราบปรามการทุริตก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ด้วย.