ผู้นำโลกต่อต้านการกีดกันการค้า
บรรดาผู้นำโลกพูดอย่างชัดเจนที่การประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอสว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านการค้าเสรีที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ
โดยไม่ได้มีการอ้างถึงชื่อประเทศสหรัฐฯ แต่ผู้นำประเทศบราซิล อินเดีย แคนาดาและอิตาลีล้วนพูดว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นจุดยืนที่ต่อต้านการค้าเสรีจากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
“ เราทั้งหมดต่างรู้ดีว่า เราอยู่ในโลกที่แนวโน้มการแบ่งแยกกำลังเพิ่มขึ้น เรารู้ว่าการกีดกันทางการค้าไม่ใช่ทางออก ” มิเชล เทเมอร์ ประธานาธิบดีบราซิลกล่าวกับผู้ฟังในดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 24 ม.ค.
“ เมื่อเราปิดตัวอยู่กับพวกเราเอง เราปิดรับเทคโนโลยี ปิดรับความคิดใหม่ๆ กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเราจะปิดรับทางออกที่มีประสิทธิภาพในปัญหาที่เรามีร่วมกัน ” เขาเสริม
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะเข้าร่วมประชุมที่ดาวอสในสัปดาห์นี้ เป็นตัวแทนที่ต่อต้านการค้าเสรี โดยกล่าววิจารณ์ประเทศคู่ค้าที่ฉกฉวยความได้เปรียบจากสหรัฐฯ
ในการพูดกับสื่อ CNBC ที่การประชุม นายกรัฐมนตรีเปาโล เจนติโลนีกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าสหรัฐฯ ต้องการดูแลผลประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกัน แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการค้าที่เป็นธรรมจำเป็นต้องมีขึ้นในกรอบที่เปิดกว้าง
“ เราชาวยุโรป เราชาวอิตาเลียน ต้องเน้นถึงความจริงที่ว่าการเคารพและการปกป้องผลประโยชน์ของพลเมืองอเมริกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าเราพูดคุยถึงกรอบการทำงานของความสัมพันธ์ทางการค่าระหว่างประเทศไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเติบโต เห็นได้ชัดว่า เราต้องผสมผสานการค้าเสรีและการค้าที่เป็นธรรมเข้าด้วยกัน ”
Gary Cohn ประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาวกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งข้อความที่แสดงถึงการเปิดกว้างในการลงทุนในอเมริกา และเตือนให้โลกรู้ว่า เราเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ
โดยเมื่อเช้าวันที่ 24 ม.ค. Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ กล่าวที่ดาวอสว่า ประเทศสหรัฐฯ ยึดมั่นในการค้าเสรีและการค้าที่เป็นธรรม เขาเสริมว่า การเติบโตที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ เป็นเรื่องดีต่อเศรษฐกิจ และมีความสอดคล้องกับนโยบาย ‘ อเมริกา เฟิร์สท์ ’ ของผู้นำสหรัฐฯ อ้างอิงจากสมาคมสื่อ
แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้ปิดประตูในการทำข้อตกลงกับ 11 ชาติในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก โดยถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรี TPP
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังระงับการเจรจากับยุโรป และยังคงอยู่ในระหว่างการประเมินว่าควรจะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้ากับแคนาดาและเม็กซิโกหรือไม่
ทั้งนี้ ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ดาวอสเมื่อวันที่ 23 ม.ค. นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดแห่งแคนาดากล่าวว่า “ เรากำลังทำงานหนักเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศเพื่อนบ้านทางใต้ของเรารับทราบว่า NAFTA ( ข้อตกลงการค้าเสรีแอตแลนติกเหนือ) ดีอย่างไร และเป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่ประเทศของเราเท่านั้น แต่กับเศรษฐกิจของโลกด้วย ”
และในวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิแห่งอินเดียกล่าวย้ำถึง แนวโน้มความกังวลต่อระบบโลกาภิวัตน์
“ การกีดกันทางการค้ากำลังเพิ่มขึ้นเพื่อต่อต้านระบบโลกาภิวัตน์ เจตนาของพวกเขาไม่เพียงแค่หลีกเลี่ยงระบบโลกาภิวัตน์ในประเทศตัวเอง แต่ยังต้องการที่จะกลับด้านกระแสที่ไหลลื่นตามธรรมชาติอีกด้วย ” ผู้นำอินเดียกล่าว
นอกจากนี้ นายกฯโมดิยังกล่าวว่า “ ทางแก้ปัญหาสถานการณ์ความกังวลที่มีต่อระบบโลกาภิวัตน์ ไม่ใช่การแยกตัวเป็นเอกเทศ ทางออกคือการเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงและกำหนดนโยบายที่กระชับและยืดหยุ่นได้ในกรอบของเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ”