เฟซบุ๊กปรับใหญ่ เน้นข่าวน้อยลง
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.เฟซบุ๊กประกาศว่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดกรองโพสต์และวิดีโอจากฟีดข่าว ซึ่งเป็นวิธีที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอระบุว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจากการออกแบบของเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยซักเคอร์เบิร์กโพสต์บนเฟซบุ๊กว่า บริษัทจะเปลี่ยนการคัดกรองฟีดข่าวมาให้ความสำคัญกับการแชร์ของเพื่อนและครอบครัวแทน ขณะที่ลดจำนวนคอนเทนต์ที่ไม่ใช่โฆษณาจากผู้เผยแพร่และแบรนด์ต่างๆลง
เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเจ้าของ 4 แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมสูงสุดรวมทั้งอินสตาแกรม ใช้เวลาหลายปีในการแยกแยะความสำคัญสูงสุดจากอัลกอริธึมของคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อนซึ่งประมวลผลว่าคนจะชอบสิ่งใดจากความเห็น การกดถูกใจ หรือวิธีอื่นที่แสดงถึงความสนใจ
ทั้งนี้ ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กวัย 33 ปีโพสต์ว่า “ ผมกำลังเปลี่ยนแปลงเป้าหมายให้ทีมผลิตภัณฑ์ จากการเน้นไปที่การช่วยคุณหาคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้อง มาเป็นการช่วยให้คุณมีการติดต่อทางสังคมที่มีความหมายมากขึ้น”
การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเรื่องเวลาที่ผู้คนใช้บนเฟซบุ๊ก และการมีส่วนร่วมจะลดลงในระยะสั้น แต่เขาเสริมว่า จะเป็นเรื่องที่ดีขึ้นสำหรับผู้ใช้งานและสำหรับธุรกิจในระยะยาว
John Hegeman รองประธานเฟซบุ๊ก กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า โฆษณาบนโซเชียลเน็ตเวิร์คจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
เฟซบุ๊กและคู่แข่งโซเชียลมีเดียอื่นๆ ถูกวิจารณ์ว่า สนับสนุนความเห็นผู้ใช้งานบนโซเชียลและประเด็นทางการเมือง และนำไปสู่พฤติกรรมการเสพติด ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการควบคุมที่เป็นไปได้ และความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว
บริษัทยังถูกวิจารณ์จากอัลกอริธึมที่ให้ความสำคัญกับข่าวลวง และให้ข้อมูลผิดๆกับฟีดข่าวของทุกคน ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2559 รวมถึงวาทกรรมทางการเมืองในหลายประเทศ
ในปีที่แล้ว เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า ตัวแทนจากรัสเซียใช้โครงข่ายเฟซบุ๊กเป็นอาวุธในการแพร่กระจายข่าวลวงเพื่อหวังผลจากการเลือกตั้งของสหรัฐฯ
คาดการณ์สภาคองเกรสจะมีการไต่สวนในเดือนนี้ โดยจะมีการสอบถามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลาย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบของอัลฟาเบทในการแพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อ
“เราตระหนักถึงความรับผิดชอบเพื่อให้แน่ใจว่าบริการของเราจะไม่เป็นเพียงการใช้งานเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่ต้องดีสำหรับความผาสุกของประชาชนด้วย” ซักเคอร์เบิร์กโพสต์
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 ล้านรายต่อเดือน ทำให้เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีรายได้สูงถึง 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.15 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการโฆษณาในช่วง 12 เดือนที่สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2560
“บางข่าวช่วยให้เกิดการพูดคุยในประเด็นที่สำคัญ แต่บ่อยครั้งในทุกวันนี้ การดูวิดีโอ การอ่านข่าว หรือการอัพเดทเพจเป็นแค่ประสบการณ์ที่ผ่านเลยไปเฉยๆ” เขาโพสต์.