เตือนภัยแผ่นดินไหวพลาดที่ญี่ปุ่น
คำเตือนให้ระวังภัยแผ่นดินไหวฉุกเฉินถูกส่งไปให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นนับล้านคน ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่วเมื่อวันที่ 5 ม.ค.และส่งผลกระทบกับโครงข่ายขนส่งคมนาคมในกรุงโตเกียว
แต่หลังจากนั้น กลับพบว่าคำเตือนที่ถูกส่งไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนนับล้านเครื่องในญี่ปุ่นเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวฉุกเฉิน
“ แผ่นดินไหวเกิดขึ้นนอกชายฝั่งของจังหวัดอิบารากิ โปรดเตรียมพร้อมรับแรงสั่นสะเทือน ” อ้างอิงจากข้อความเตือนภัยแผ่นดินไหวในโทรศัพท์มือถือ
มีการระงับให้บริการรถไฟ แต่ยังไม่มีรายงานของผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือผู้เสียชีวิต
โดยทางการเชื่อว่า ประกาศเตือนภัยที่ถูกส่งไปจากกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น เกิดจากระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่อ่านค่าผิดพลาดจากแผ่นดินไหวเล็กๆ 2 ลูกกลายเป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ขึ้นลูกเดียว
โดยทางกรมอุตุฯ ซึ่งกำลังสอบสวนหาสาเหตุของความผิดพลาดในครั้งนี้ ได้ประเมินว่า แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 6.4 แมกนิจูดจะเขย่าชายฝั่งของจังหวัดอิบารากิทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น
ซึ่งที่จริงแล้ว เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 4.4 แมกนิจูดขึ้นในเวลา 11.02 น. ตามเวลาท้องถิ่น และเกิดแรงสั่นสะเทือนขนาด 3.9 แมกนิจูด ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นนอกชายฝั่งและไม่ส่งผลกระทบกับบริเวณแผ่นดิน
“ เราสงสัยว่าระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวประเมินค่าสูงเกินจริง โดยเอาค่าแผ่นดินไหวที่เกิดแยกกัน 2 ครั้งมารวมกันเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งเดียว ” ทางการรายงาน
ภาพข่าวในโทรทัศน์แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะกำลังเช็คข้อความในโทรศัพท์มือถือของเขาเช่นกันเนื่องจากมีเสียงสัญญาณเตือนภัยรอบๆ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี
สถานีโทรทัศน์สาธารณะ NHK ยังประกาศเตือนให้ประชาชนปกป้องดูแลตัวเอง และอยู่ให้ห่างจากเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มีความแข็งแรงมั่นคง
ทั้งนี้ คำเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้าถูกส่งไปยังโทรศัพท์มือถือ ลำโพงสาธารณะ วิทยุและโทรทัศน์ในทุกภูมิภาค โดยเตือนว่าจะมีเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวผิดพลาดในญี่ปุ่น โดยเมื่อเดือนส.ค.ปี 2559 ก็เคยมีประกาศเตือนภัยว่าจะมีแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 9.1 แมกนิจูด ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คิดเป็นประมาณ 20% ของแผ่นดินไหวทั่วโลกที่มีขนาดความรุนแรง 6.0 แมกนิจูดหรือมากกว่า โดยเฉลี่ยแล้ว เครื่องตรวจจับแผ่นดินไหวสามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนในประเทศได้ทุก 5 นาที.