ราคาน้ำมันผันผวนจากหลายปัจจัย
เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ราคาน้ำมันขยับขึ้นลงจากการลดเพดานการผลิตน้ำมันของประเทศกลุ่มโอเปก และการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ในการส่งออกน้ำมันของอิหร่านและเวเนซุเอลาทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ล่วงหน้า ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาน้ำมันระหว่างประเทศ ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 69.99 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.2% หลังจากปิดการซื้อขายล่าสุดที่ขยับขึ้นมา 2.1%
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสล่วงหน้า (WTI) ของสหรัฐฯอยู่ที่ 59.03 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.7% จากการปิดการซื้อขายล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. ไม่มีการซื้อขาย WTI ในวันที่ 27 พ.ค.เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการของสหรัฐฯ
ราคาที่แพงขึ้นได้แรงหนุนจากการปรับลดเพดานการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปก ตั้งแต่ต้นปี และมีความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลาง
กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรรวมทั้งรัสเซียมีกำหนดจะประชุมร่วมกันรอบหน้าในวันที่ 25 -26 มิ.ย.เพื่อปรึกษาหารือกันเรื่องนโยบาย
“ การลดปริมาณการผลิต ความสับสนวุ่นวายด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั่วกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง มีแนวโน้มจะให้ความมั่นใจกับนักลงทุนด้านการเงินกับคู่ค้า ” ธนาคารซิตี้กล่าว
นอกเหนือจากการลดปริมาณการผลิตจของกลุ่มโอเปก มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐที่มีกับการส่งออกน้ำมันจากอิหร่านและเวเนซุเอลา ยิ่งทำให้ตลาดน้ำมันตึงตัวขึ้น
“ การส่งออกน้ำมันจากอิหร่านภายใต้แรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เกิดขึ้นพร้อมกับนโยบายของโอเปกที่จะขยายเวลาข้อตกลงในการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ” ธนาคารซิตี้กล่าว
ในปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่ทำกับอิหร่าน และสหรัฐฯ เริ่มมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านให้กับประเทศอื่น ส่งผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สหรัฐฯยังได้มีมาตรการคว่ำบาตรกับการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาด้วย เนื่องจากต้องการโค่นล้มการบริหารประเทศของประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร
นอกจากนี้ ตลาดยังมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะส่งผลกับการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง
“ เราอยากเห็นตัวเลขดีมานด์ที่แข็งแกร่งจริงๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้น” แมทท์ สแตนลีย์ โบรกเกอร์ที่ Starfuels ในดูไบกล่าว.