อินเดียเฝ้าระวัง “ไวรัสซิก้า” ระบาดอุตตรประเทศ
รัฐบาลอินเดียเฝ้าระวังสถานการณ์ระบาด “ไวรัสซิกา” หลังพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 89 ราย ในพื้นที่รัฐอุตตรประเทศ แม้เชื้อโรคร้ายไม่รุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ส่งผลถึงพัฒนาการทางสมองของเด็กๆ
อินเดียพบการระบาดของเชื้อไวรัสซิก้า ต้นเหตุโรคอาการสมองฝ่อในเด็กๆ ในพื้นที่รัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นรัฐประชากรมากที่สุดของประเทศราว 200 ล้านคน โดยพบผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 89 ราย รวมถึงเด็กๆ 17 ราย แหล่งพบเชื้อมากที่สุดอยู่ที่เมืองคานปุระ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อ 23 ต.ค. จากนั้น เจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ
ไวรัสซิก้า แพร่กระจายโดยมียุงเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับไข้เลือดออก ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการป่วยรุนแรงมากนัก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ แต่เด็กๆโดยเฉพาะทารกในครรภ์มารดาจะได้รับผลกระทบมากจากอาการสมองฝ่อ และเชื้อไวรัสนี้สามารถติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ด้วย
อินเดียพบเชื้อไวรัสซิก้าครั้งแรกในรัฐคุชราช ฝั่งตะวันตกของประเทศเมื่อปี 2017 ไวรัสซิก้ามีต้นกำเนิดจากลิงในยูกันดาถูกพบเมื่อปี 1947 และพบเชื้อติดต่อสู่มนุษย์ครั้งแรกเมื่อปี 1954 เชื้อไวรัสซิก้า เคยระบาดอย่างกว้างขวางในทวีปแอฟริกา ลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก
แม้อาการป่วยติดเชื้อไวรัสซิก้ามีอัตราการเสียชีวิตไม่มากนัก หรือประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเต็มขั้น แต่โรคติดเชื้อชนิดนี้ยังไม่มีทางรักษาโดยตรง วิธีการป้องกันทางเดียวคือ ต้องลดความเสี่ยงจากโดนยุงกัด.