สหรัฐฯขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 9 เดือน
สหรัฐฯ มียอดขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 9 เดือนในเดือนต.ค.จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นและมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีนและเม็กซิโกที่เป็นมายาวนานเพิ่มจำนวนขึ้นอีก
สถานการณ์การขาดดุลการค้าย่ำแย่ลง แม้สหรัฐฯ จะส่งออกสินค้าไปจีนและเม็กซิโกได้มากที่สุดในรอบกว่า 3 ปีก็ตาม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กล่าวท้าทายความเห็นของคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ว่า สหรัฐฯกำลังเสียเปรียบในการเจรจาตกลงทางธุรกิจกับประเทศคู่ค้า
“ นี่ทำให้ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์คว้าน้ำเหลว เมื่อต้องปฏิบัติภารกิจในการปรับปรุงเงื่อนไขการค้าที่ไม่เป็นธรรมในอดีต ซึ่งส่งผลให้โรงงานในต่างประเทศเริ่มต้นได้เปรียบเป็นสองเท่ามาตั้งแต่หลายทศวรรษก่อน ” Chris Rupkey หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ MUFG ในนครนิวยอร์กให้ความเห็น
กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ว่า ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.6% เป็น 48,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ( 52.42 ล้านล้านบาท) อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา โดยตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลต่อความอ่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น 1.7% เป็น 35,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.15 ล้านล้านบาท) และยอดขาดดุลกับเม็กซิโกเพิ่มขึ้น 15.9% เป็น 6,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (216,546 ล้านบาท)
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวโทษว่า การขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลส่งผลเสียต่อการจ้างงานในภาคการผลิตของสหรัฐฯ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับกลางๆ ไม่หวือหวามาโดยตลอด เขาได้สั่งให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ซึ่งมีการลงนามตั้งแต่ปี 2537 โดยสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก
โดยเขาได้บอกกับกลุ่มส.ว.จากพรรครีพับลิกันที่สนับสนุนหลักการของ NAFTA ในช่วงรับประทานอาหารกลางวันเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับทุกคน
“ และจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว แต่ก็ต้องเปลี่ยนให้เร็วขึ้น ” ทรัมป์กล่าว โดยเสริมว่า การเจรจาครั้งใหม่ของ NAFTA ประสบความสำเร็จมาก
“ ขณะที่ดีมานด์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ผู้ผลิตในต่างประเทศก็จะจัดหาซัพพลายป้อนตลาดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ” Mickey Levy หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทวีปอเมริกาและเอเชีย ประจำ Berenberg Capital Markets ในนิวยอร์กให้ความเห็น “ เราคาดการณ์ว่า สหรัฐฯจะขาดดุลการค้าและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น ”
ตัวเลขนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น 1.6% เป็น 244,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนต.ค. โดยการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปี 2557 โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่นำเข้าอยู่ที่ 47.26 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนต.ค. นับเป็นราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปี 2555 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้าอาหารสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังนำเข้าสมาร์ทโฟนและสินค้าอื่นๆเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้ยอดนำเข้าสินค้าจากจีนและเม็กซิโกทำสถิติสูงสุดในเดือนต.ค.
ยอดส่งออกสินค้าและบริการของสหรัฐฯ อยู่ที่ 195,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนต.ค. จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขส่งออกไปจีนอยู่ในระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2556 ขณะที่ยอดส่งออกไปเม็กซิโกสูงสุดในรอบ 3 ปี.