UN กระตุ้นญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กระตุ้นเตือนญี่ปุ่นให้รับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศมากขึ้น โดยกดดันให้ญี่ปุ่นช่วยเหลือในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก หลังจากญี่ปุ่นให้สถานะแก่ผู้ลี้ภัยเพียง 3 คนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 นี้
โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่เปิดประเทศต้อนรับผู้อพยพลี้ภัยน้อยที่สุด ในปี 2559 ญี่ปุ่นยอมรับผู้ลี้ภัยให้เข้ามาพำนักในประเทศเพียง 28 คน จากจำนวนผู้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยมากเป็นประวัติการณ์ถึง 10,091 คน
ตั้งแต่ปี 2551 ญี่ปุ่นให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยในจำนวนจำกัด โดยมีจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด 152 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงจากเมียนมาที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในไทยและมาเลเซีย
“ ญี่ปุ่นรับผู้ลี้ภัยน้อยมาก ประมาณ 20 – 30 คนต่อปี ” ฟิลิปโป กรันดิ ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวในงานแถลงข่าวในกรุงโตเกียว “ ผมได้ร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาการขยายจำนวนรับผู้ลี้ภัยเพิ่ม”
ทั้งนี้ ความไม่เต็มใจของญี่ปุ่นที่จะยอมรับผู้ลี้ภัยสะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังเรื่องการรับคนเข้ามาในประเทศ ซึ่งมีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและความเป็นชาติพันธุ์ที่เป็นหนึ่งเดียวกันมาโดยตลอด
ญี่ปุ่นถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งขัดแย้งกับสถานะดั้งเดิมคือเป็นผู้บริจาคในระดับนานาชาติรายสำคัญเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย
แต่การบริจาคของญี่ปุ่นให้กับ UNHCR ก็ลดจำนวนลงเช่นกัน ในปีนี้จนถึงวันที่ 2 ต.ค. ญี่ปุ่นเป็นผู้บริจาคมากเป็นอันดับ 4 โดยบริจาคให้ 152 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับที่เคยเป็นผู้บริจาคมากเป็นอันดับ 2 เมื่อ 4 ปีก่อน
“การบริจาคจากรัฐบาลให้ UNHCR เริ่มลดลงทุกปีตั้งแต่ปี 2556 สิ่งที่ผมร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาคือ ความต้องการของผู้ลี้ภัยและจำนวนผู้อพยพที่กำลังเพิ่มขึ้น ” นายกรันดิกล่าว
ผู้คนมากกว่า 2 ล้านคนอพยพหนีภัยสงครามและการประหัตประหารทำให้ปีนี้เป็นปีที่มีผู้ลี้ภัยมากติดอันดับ โดยเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ตัวเลขผู้ลี้ภัยอยู่ที่ 17.2 ล้านคนภายใต้การดูแลของ UNHCR
ญี่ปุ่นระบุว่า ผู้คนจำนวนมากต้องการลี้ภัยในญี่ปุ่นเพื่อหางานทำ โดยมีแรงจูงใจคือใบอนุญาตทำงานสำหรับบุคคลที่ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัย
ที่ผ่านมา รัฐบาลปฏิเสธแรงงานอพยพไร้ทักษะ ถึงแม้จำนวนประชากรที่ลดลง และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะทำให้รัฐบาลต้องดิ้นรนมานานกว่าสองทศวรรษเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตและหลีกเลี่ยงจากภาวะเงินฝืด.