จีนหวังบังคลาเทศคุยเมียนมา แก้วิกฤตโรฮีนจา
นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนแถลงเมื่อวันที่ 18 พ.ย.เรียกร้องให้บังคลาเทศและเมียนมาแก้ไขวิกฤตโรฮีนจาผ่านกระบวนการเจรจาทวิภาคีแทนการดำเนินการจากนานาชาติ
“ ประชาคมนานาชาติไม่ควรทำให้สถานการณ์ซับซ้อน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติต้องช่วยให้เกิดความร่วมมือทวิภาคีระหว่างบังคลาเทศกับเมียนมาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ” หวังยี่กล่าวในการแถลงข่าวที่สถานทูตจีนในกรุงธากา
โดยเขาเดินทางถึงบังคลาเทศเมื่อวันที่ 18 พ.ย.เพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 2 วัน หลังจากนั้น เขาจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM)
“ จีนสนับสนุนให้มีการแก้ไขวิกฤตโดยสันติ ผ่านกระบวนการเจรจาทวิภาคีระหว่างบังคลาเทศและเมียนมา” เขากล่าว
ทั้งนี้ มีชาวมุสลิมโรฮีนจาอพยพลี้ภัยไปบังคลาเทศตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.จนถึงปัจจุบันมากกว่า 600,000 คน เพื่อหลบหนีจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ
“ นี่เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อนและจำเป็นต้องแก้ไขอย่างครอบคลุม รัฐยะไข่ต้องการการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และจีนพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ” เขากล่าว
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน นายหวังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีชีค ฮาสินาของบังคลาเทศที่ทำเนียบในกรุงธากาและให้ความมั่นใจกับเธอถึงการสนับสนุนจากจีนในการแก้ไขวิกฤต
“ เมียนมาต้องนำพลเมืองกลับไปพร้อมทั้งให้ความปลอดภัย ความมั่นคง และศักดิ์ศรีสำหรับการแก้ไขวิกฤตอย่างยั่งยืน” อิชซานุล การิม เลขานุการส่วนตัวของนายกฯฮาสินายกคำพูดของนายกฯมาอ้างอิง
“ เราจะไม่ยอมให้ดินแดนของบังคลาเทศถูกใช้ประโยชน์โดยผู้ก่อการร้ายเพื่อสร้างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน” นายกฯฮาสินาเสริม อ้างอิงจากการิม
อาบุล ฮัสซัน มาห์มุด อาลี รัฐมนตรีต่างประเทศของบังคลาเทศบอกกับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนว่า บังคลาเทศ
กำลังพยายามแก้ไขประเด็นนี้ทั้งในระดับทวิภาคีและนานาประเทศ เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลได้
แถลงการณ์จากรัฐมนตรีต่างประเทศของบังคลาเทศระบุว่า เมื่อมีการหยิบยกเรื่องการอพยพของชาวเมียนมามาพูด รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกล่าวว่าจะช่วยแก้ไขประเด็นนี้และจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด เขาตระหนักว่าบังคลาเทศกำลังประสบกับปัญหาการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัย
โดยผู้แทนจากสภาคองเกรสสหรัฐฯ กำลังเยือนบังคลาเทศเพื่อศึกษาเกี่ยวกับวิกฤตโรฮีนจาเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ มาร์โกต์ วอลล์สตอร์ม รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน เฟเดริกา โมเกรินี ผู้แทนระดับสูงจากสหภาพยุโรปในกิจการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ซิกมาร์ เกเบรียล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี และทาโร โคนะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นจะมาเยือนบังคลาเทศในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน.