15 ประเทศร่วมลดใช้ถ่านหิน
มีอย่างน้อย 15 ประเทศที่เข้าร่วมลงนามเป็นสมาชิกขององค์กรนานาชาติที่มุ่งลดการใช้พลังงานถ่านหินให้หมดไปภายในปี 2573 อ้างอิงจากข้อมูลของผู้แทนในการประชุมภูมิอากาศของสหประชาชาติที่จัดขึ้นในเมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนีเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา
โดยผู้แทนในการประชุมระบุว่า สหราชอาณาจักร แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เอธิโอเปีย ชิลี เม็กซิโกและหมู่เกาะมาร์แชลได้เข้าร่วมใน Powering Past Coal Alliance
หน่วยงานนี้ตั้งเป้าว่าจะมีจำนวนสมาชิก 50 ประเทศภายในการประชุมภูมิอากาศของสหประชาชาติในปี 2561 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมือง Katowice ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดเมืองหนึ่งของยุโรป
อย่างไรก็ตาม ประเทศขนาดใหญ่ที่บริโภคพลังงานถ่านหินมากที่สุดในโลกอย่างจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนีและรัสเซีย กลับยังไม่ได้ลงนามในข้อตกลงนี้
มีการจัดตั้ง Powering Past Coal ไม่กี่วันหลังจากคณะทำงานของสหรัฐฯ พร้อมด้วยตัวแทนจากบริษัทพลังงานจัดอีเวนท์การพูดคุยเพื่อส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ในการบรรเทาความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศ
โดยอีเวนท์ก่อให้เกิดการประท้วงอย่างสันติจากผู้ประท้วงที่ต่อต้านการใช้ถ่านหิน และความคิดคัดค้านจากรัฐมนตรีจำนวนมากจากหลายประเทศที่ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุตามข้อตกลงปารีสในปี 2558 ซึ่งตั้งเป้าที่จะให้ประเทศทั่วโลกลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
การก่อตั้งพันธมิตรกลุ่มนี้เริ่มต้นโดยสหราชอาณาจักร แคนาดา และหมู่เกาะมาร์แชล ซึ่งกระตุ้นให้ชาติอื่นๆเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยจากจดหมายที่เผยแพร่โดยสื่อรอยเตอร์เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ระบุว่า จนถึงตอนนี้มีประเทศที่ลงนามเป็นพันธมิตรมีอย่างน้อย 12 ประเทศ และอาจจะมีเพิ่มเติมอีกจากบางรัฐของสหรัฐฯ บางรัฐและบางธุรกิจในแคนาดา
“เหมือนเป็นการประณาม (ประธานาธิบดี)โดนัลด์ ทรัมป์จากสหราชอาณาจักรและแคนาดา ซึ่งเป็นสองประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกาว่า ความหลงใหลในพลังงานสกปรกของทรัมป์จะไม่แพร่กระจายออกไป” โมฮาเมด อโดว์ ผู้นำด้านภูมิอากาศระหว่างประเทศที่ Christian Aid ให้ความเห็น
นับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงปารีสในปี 2558 ซึ่งตั้งเป้าที่จะกำจัดเชื้อเพลิงฟอสซิลให้หมดไป หลายประเทศมีแผนระดับชาติที่จะกำจัดถ่านหินออกจากพลังงานสำรองโดยรวมของแต่ละประเทศ.