‘พาราไดส์ เปเปอร์ส’ รั่ว
เกิดเหตุเอกสารทางการเงินรั่วไหลครั้งใหญ่ล่าสุดที่เผยให้เห็นถึงข้อมูลลับของบุคคลที่ทรงอิทธิพล และมหาเศรษฐีระดับโลกหลายคนที่มีการลงทุนจำนวนมากในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษี
โดยเอกสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘พาราไดส์ เปเปอร์’ ที่เผยแพร่โดยสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ หรือ ICIJ ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเอกสารการเงินลับ ‘ปานามา เปเปอร์ส’ ที่รั่วไหลจนเป็นข่าวฉาวไปทั่วโลกในปีที่แล้ว
มีการเปิดเผยว่า นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีความสัมพันธ์กับบริษัทชิปปิ้งที่เชื่อมโยงกับวงในของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย อ้างอิงจากเอกสารที่รั่วไหล นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงการลงทุนของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษีอีกด้วย
ยังไม่มีการยืนยันว่าทั้งกรณีของนายรอสส์ หรือ กองทุนส่วนตัวของสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของนายรอสส์และรัสเซียก่อให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อน และการไม่ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐฯที่มีต่อรัสเซีย
ส่วนในกรณีของกองทุนส่วนตัวของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ นักวิจารณ์อาจตั้งคำถามว่า เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ที่ประมุขของอังกฤษจะลงทุนในต่างประเทศเพื่อเลี่ยงภาษี
ทั้งนี้ พาราไดส์ เปเปอร์สมีความจุของเอกสาร 13.4 ล้านแผ่น โดยส่วนใหญ่มาจากบริษัทแอปเปิลบี ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายที่ให้บริการจดทะเบียนบริษัทในเบอร์มิวดาและหมู่เกาะในแคริบเบียน ช่วยให้ลูกค้าเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมากหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย โดยสื่อบีบีซีพาโนรามาก็เป็นส่วนหนึ่งของสื่อเกือบ 100 สำนักที่ร่วมในการสืบสวนเอกสารเหล่านี้ด้วย
เหมือนกับการรั่วไหลของปานามา เปเปอร์สในปีที่แล้ว ข้อมูลของพาราไดส์ เปเปอร์สถูกส่งให้หนังสือพิมพ์เยอรมันชื่อ Suddeutsche Zeitung และแชร์ต่อให้กับ OCIJ เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการสืบสวน แต่ทางหนังสือพิมพ์สัญชาติเยอรมันแห่งนี้ไม่เปิดเผยแหล่งข่าว
ผลกระทบส่วนใหญ่จากข้อมูลที่รั่วไหลครั้งนี้คือ การตั้งคำถามไปที่นักการเมืองจากหลายประเทศ คนดังที่มีชื่อเสียงและมหาเศรษฐีระดับโลกที่ใช้โครงสร้างของทรัสต์ กองทุน และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่มีทรัพย์สินหรือการดำเนินการธุรกิจใดๆ เพื่อปกป้องเงินสดของพวกเขาไม่ให้ถูกเก็บภาษีจากรัฐบาล หรือการซุกซ่อนข้อตกลงลับไว้
ทั้งนี้ นอกจากกรณีของนายรอสและสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธแล้ว ยังมีข้อมูลของกองทุนช่วยเหลือสำคัญของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดแห่งแคนาดาที่มีความเชื่อมโยงกับการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการหลบเลี่ยงที่จะจ่ายภาษีให้แคนาดาเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ สั่นคลอนความน่าเชื่อถือในตัวเขาซึ่งมีการรณรงค์ให้มีการปิดสวรรค์ในการเลี่ยงภาษีของธุรกิจในลักษณะนี้มาโดยตลอด
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทแอปเปิลบีขานรับข่าวฉาวด้วยการยืนยันว่า “ ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำผิดใดๆ ทั้งในส่วนของบริษัทเรา หรือลูกค้าของเรา” โดยเสริมว่า “ เราไม่ได้มีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย”.