Virgin เข้าซื้อหุ้นผลิตเส้นทางคมนาคม Hyperloop
กลุ่มลงทุนของบริษัท Virgin ได้เข้าซื้อหุ้นไม่ระบุจำนวนกับบริษัท Hyperloop One หรือหนึ่งในหลายบริษัทที่พยายามผลิตระบบขนส่งใหม่ที่เรียกว่า พ็อด
โดยรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ของข้อตกลงในการซื้อหุ้นครั้งนี้ยังไม่ได้มีการเปิดเผยเช่นกัน
เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้ก่อตั้งบริษัท Virgin จะเข้าร่วมในบอร์ดบริหารของบริษัท Hyperloop One ที่ตั้งอยู่ในลอสแองเจลิส ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการซื้อขายหุ้น และจะทำการรีแบรนด์บริษัทใหม่ชื่อว่า Virgin Hyperloop One
ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งชี้ว่า การรวมตัวกันระหว่างสองบริษัท จะช่วยหนุนโปรไฟล์ของบริษัทให้สูงยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์เดวิด เบลลี่ จากโรงเรียนธุรกิจแอสตัน ระบุว่า “เทคโนโลยีของบริษัท Hyperloop One ยังไม่ได้มีการสร้างขึ้นจริงและยังห่างไกลจากการถูกนำมาใช้ในโลกจริง”
“แต่ข้อตกลงนี้จะช่วยในด้านการตลาดของพวกเขาและอาจช่วยดึงดูดนักลงทุนที่จะเข้ามาในอนาคตเพื่อผลักดันการผลิตอีกด้วย”
Hyperloop One ได้มีการทดสอบพ็อดต้นแบบในทะเลทรายเนวาดา ซึ่งสามารถเดินทางได้ 310 กม./ชม. ในท่อความดันต่ำระยะทาง 500 เมตร โดยเป้าหมายสูงสุดของ Hyperloop One คือสามารถเดินทางได้ 1,046 กม./ชม.
ระบบขนส่งของ Hyperloop One ใช้การลอยตัวของแม่เหล็กและระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า เพื่อทำให้ตัวพ็อดนั้นสามารถเดินทางได้ และยังถือเป็นแนวทางการขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าการคมนาคมส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
ทางบริษัทระบุว่า ยังมีการเดินหน้าสร้างโปรเจคท์ต่าง ๆ ที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปสู่ตะวันออกกลาง ยุโรป อินเดีย แคนาดา และสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ นายอีลอน มัสก์ ผู้คิดค้น Hyperloop เคยเปรยเกี่ยวกับการผลิตระบบ Hyperloop ผ่านบริษัท Boring ซึ่งเป็นบริษัทสร้างอุโมงค์ของเขาเอง
อย่างไรก็ตาม ทางศาสตราจารย์เบลลี่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ทั้งหมดในอนาคตของเจ้าขนส่ง Hyperloop
เขาอธิบายว่า “ผมยังคงไม่มั่นใจว่าเทคโนโลยี Hyperloop จะสามารถใช้งานได้ในพื้นที่ซึ่งมีราคาสูง หรือมีประชากรหนาแน่น”
“แต่มันอาจจะดีกว่าสำหรับพื้นที่อย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มันเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อน และต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสำเร็จ”.