นักวิจัยสหรัฐฯสร้างแบตเตอรีชาร์จไวขึ้น
งานวิจัยของทางสหรัฐฯ ชี้ว่า แบตเตอรีลิเทียม อาจเพิ่มความเร็วในการชาร์จให้มากขึ้น 10-20 เท่า หากใช้ยางมะตอย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ไรซ์ สามารถเร่งความเร็วในการชาร์จแบตเตอรีได้โดยการนำส่วนผสมคาร์บอนที่มาจากของเหลวหนืดอย่างยางมะตอยมาใช้เป็นหนึ่งในส่วนประกอบการทำแบตเตอรี
ในการทดสอบ แบตเตอรีที่ทำมาจากยางมะตอยสามารถชาร์จจนเต็มได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที
นอกจากนี้การวิจัยยังพบว่า การใช้ยางมะตอยในแบตเตอรีสามารถหยุดการตกตะกอนภายในแบตเตอรีที่อาจทำให้มีอายุการใช้งานที่สั้นลง
ศาสตราจารย์เจมส์ ทัวร์ ผู้นำแล็บในการพัฒนาแบตเตอรีระบุว่า “ ความจุของแบตเตอรีเหล่านี้มหาศาลมาก ”
เขาเสริมว่า “ สิ่งที่โดดเด่นของแบตเตอรีนี้คือเราสามารถชาร์จแบตเตอรีจาก 0% ให้เต็มได้ภายในเวลาเพียง 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าแบตเตอรีอื่น ๆ ที่อาจกินเวลา 2 ชม.หรือมากกว่า ”
สำหรับการผลิตแบตเตอรีของกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ไรซ์ ทางนักวิจัยระบุว่า พวกเขาใช้คาร์บอนที่มาจากยางมะตอย ซึ่งผสมกับริบบิ้นกราฟีนขนาดนาโน ก่อนจะถูกพ่นทับด้วยโลหะลิเทียม
ศาสตราจารย์ทัวร์ ระบุว่า ขั้นตอนการผลิตแบตเตอรีชนิดใหม่นี้ ยุ่งยากน้อยกว่าขั้นตอนอื่น ๆ ในการผลิตแบตเตอรีที่ชาร์จได้รวดเร็วในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด
ทางทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย ไรซ์ ได้นำแบตเตอรีต้นแบบมาใช้ในการชาร์จและปล่อยพลังงานออกหลายร้อยรอบ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะเสถียรและใช้งานได้จริง
จากการทดลองยังเผยให้เห็นว่า แบตเตอรีดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะประสบปัญหาจากการสร้างโครงสร้างที่เรียกว่า “ ลิเทียมเดนไดรท์ส์ ” ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วและทำให้อุปกรณ์มีอายุการใช้งานที่จำกัด
ทั้งนี้ รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการวิจัยได้มีการเปิดเผยผ่านบทความด้านวิทยาศาสตร์ชื่อว่า ACS Nano.