ชามจีนราชวงศ์ซ่งแพงทุบสถิติ
ชามเก่าแก่ที่มีอายุประมาณ 1,000 ปีในสมัยราชวงศ์ซ่งของจีนถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 37.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,270 ล้านบาทในฮ่องกงเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ทำลายสถิติเดิมของงานกระเบื้องเคลือบจีนลงได้ สถาบันประมูล Sotheby’s รายงาน
ชามขนาดเล็ก ซึ่งถูกผลิตขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 960 – 1127 สามารถทุบสถิติเดิมที่เคยมีราคาแพงที่สุดคือ 36.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 ลงได้ โดยถ้วยเจ้าของสถิติเดิมถูกผลิตขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงและถูกประมูลไปโดยมหาเศรษฐีในเซี่ยงไฮ้
สถาบันประมูลระดับโลกอย่าง Sotheby’s ระบุว่า ผู้ที่ชนะการประมูลในครั้งนี้ยังคงเป็นบุคคลนิรนาม โดยทางบริษัทประมูลแห่งนี้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลว่า เป็นมหาเศรษฐีจากจีนแผ่นดินใหญ่หรือไม่
“นี่เป็นสถิติใหม่ของงานกระเบื้องเคลือบของจีน และเราได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ด้วยชิ้นงานสุดพิเศษในวันนี้” นายนิโคลาส โช รองประธาน Sotheby’s เอเชียกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ทั้งนี้ การประมูลเริ่มต้นที่ราคา 10.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และใช้เวลาในการประมูลทั้งหมดประมาณ 20 นาที โดยการประมูลเป็นการแข่งขันกันให้ราคาสูงสลับกันไปมา ทั้งโทรศัพท์ให้ราคาจากผู้ยื่นประมูลหลายคนและผู้ที่ให้ราคาอยู่ในห้องประมูลเอง
จากข้อมูลของ Sotheby’s ชามใบนี้ซึ่งถูกออกแบบมาไว้สำหรับใช้ล้างแปรง เป็นตัวอย่างของชามกระเบื้องหายากจากพระราชวังในสมัยราชวงศ์ซ่งทางเหนือของจีน และเป็น 1 ใน 4 ชิ้นที่อยู่ในมือของเอกชน โดยชามมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 ซ.ม.และเคลือบสีเขียวไข่กา
โดยถ้วยเจ้าของสถิติเดิมเป็นถ้วยเล็กๆสีขาว ผลิตขึ้นในรัชกาลจักรพรรดิ์เฉิงฮว่า ในระหว่างปี ค.ศ. 1465 -1487 ถ้วยนี้ถูกขายให้กับมหาเศรษฐี Liu Yiqian ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดามหาเศรษฐีรุ่นใหม่ของจีนที่ชอบสะสมงานศิลปะและของเก่าที่มีคุณค่าและราคาแพง
หลังจากซื้อไป เขาสร้างกระแสในโซเชียลมีเดียของจีนด้วยการดื่มชาจากถ้วยนี้ เขามีพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวในนครเซี่ยงไฮ้ โดยประมูลงานศิลปะที่มีชื่ออย่างต่อเนื่อง และเป็นนักสะสมงานศิลปะที่ทรงคุณค่าไว้ในครอบครองมากที่สุดของจีน และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เขายังหันไปสะสมงานศิลปะที่มีชื่อเสียงจากฝั่งตะวันตกอีกด้วย
โดยในปี 2558 เขาประมูลภาพ Nu Couche หรือ Reclining Nude ชื่อดังของ Modigliani จากสถาบันประมูล Christie’s ด้วยราคา 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 5,727 ล้านบาท ซึ่งจัดเป็นงานศิลปะที่มีการซื้อขายในราคาสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากการประมูล
ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่เข้มข้นในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ส่งผลกระทบต่อการประมูลในฮ่องกงแต่อย่างใด.