บิล เกตส์เรียกร้องสหรัฐฯ ช่วยประเทศยากจน
บิล เกตส์และภรรยาของเขา-เมลินดา เรียกร้องให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเพิ่มจำนวนเงินกองทุนช่วยเหลือประเทศที่ยากจนทั่วโลก
จากบทความในวอลล์สตรีทเจอร์นัลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์และภรรยามีความเห็นว่า ชีวิตของผู้คนนับล้านและวิถีชีวิตของคนนับพันล้านขึ้นอยู่กับโปรแกรมการให้ความช่วยเหลือต่างประเทศของอเมริกา ซึ่งปัจจุบันถูกตัดงบประมาณในส่วนนี้ไป
ทั้งนี้ งบประมาณส่วนกลางของสหรัฐฯ ใช้ไปกับการช่วยเหลือต่างประเทศประมาณ 1.3% อ้างอิงจาก
ข้อมูลขององค์กรเพื่อนโยบายต่างประเทศ โดยพิมพ์เขียวของคณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สำหรับปีงบประมาณ 2561 ได้ตัดลดงบประมาณลงเกือบ 30% สำหรับกระทรวงและองค์กรสหรัฐฯ เพื่อการพัฒนาต่างประเทศ ซึ่งจุดประกายก่อให้เกิดการออกความเห็นโต้กลับทันทีจากผู้นำในสภาคองเกรส
โดยบิล และเมลินดาระบุว่า เงินงบประมาณที่ถูกตัดออกไปจะส่งผลกระทบให้เกิดความทุกข์ทรมานเพิ่มขึ้นในประเทศที่ขาดแคลนทั่วโลก
“ กองทุนช่วยเหลือต่างประเทศจะอยู่ไม่ได้หากขาดเงินงบประมาณที่สหรัฐฯ ใช้เพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจนทั่วโลก ในการพัฒนาชีวิตของพลเมือง โรคร้ายและความยากจนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่เรารู้ถึงการแก้ไขความทุกข์ยากของมนุษยชาติ และกรณีทางจริยธรรมในการช่วยปัดความทุกข์ออกไปจากบนใบหน้าของพวกเขา ”
ในช่วงหลายปีมานี้ บิล เกตส์ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินสูงสุดอันดับ 1 ของโลก ได้ให้ความสนใจเพิ่มขึ้นกับสถานะการเป็นคนใจบุญของเขามากกว่าการเป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียง ในปีที่แล้ว มูลนิธิเกตส์สนับสนุนเงินเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯให้กับการแก้ปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก
“ กรณีการช่วยเหลือในต่างประเทศที่เหมาะสมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เราเห็นซ้ำๆ หลายต่อหลายครั้งว่า เมื่อผู้คนที่ใดก็ตามสิ้นหวัง ผู้คนทุกที่ก็จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้น ” อ้างอิงจากบทความของทั้งคู่
“ ในโลกที่โรคระบาดแพร่กระจายจากทวีปหนึ่งไปอีกทวีปหนึ่งได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง โลกที่ผู้ก่อการร้ายโจมตีก่อเหตุร้ายบ่อยครั้งขึ้น และโลกที่วิกฤตการเมืองส่งผลให้เกิดการอพยพลี้ภัยจำนวนมาก นี่อยู่ในความสนใจร่วมกันของเราที่จะต่อสู้กับความยากจนในความเป็นจริงแต่ละวัน ความเจ็บป่วยและความคับข้องใจ ” พวกเขาเสริม
“ การใช้เงินเล็กน้อยเพื่อช่วยให้เด็กคนหนึ่งมีสุขภาพดีไม่ใช่แค่เป็นเพียงสิ่งจำเป็นทางจริยธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนในระยะยาวในโลกที่ปลอดภัยและเจริญก้าวหน้าด้วย ” อ้างอิงจากบทความของทั้งคู่.