สร้างหุ่นยนต์พิเศษขนขยะนิวเคลียร์ฟุกุชิมา
มีการร่วมทุนระหว่างสองบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำคือฮิตาชิของญี่ปุ่นและเจเนรัล อิเล็กทริกจากสหรัฐฯ ในการพัฒนาหุ่นยนต์พิเศษสำหรับขนย้ายกากขยะนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมา ไดอิจิ ซึ่งเป็นงานส่วนที่ยากที่สุด
โดยหุ่นยนต์พิเศษซึ่งอยู่ภายใต้การพัฒนาของบริษัทร่วมทุนพลังงานนิวเคลียร์ฮิตาชิ – จีอีจะมีชื่อเรียกว่า ‘หุ่นยนต์กล้ามเนื้อ’ เนื่องจากปฏิบัติการด้วยระบบไฮโดรลิกเหมือนกล้ามเนื้อมนุษย์ โดยบริษัทซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในบริษัทฮิตาชิ จังหวัดอิบารากิ กำลังพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อให้การพัฒนาโครงการเสร็จสมบูรณ์ก่อนกำหนดการเริ่มต้นขนย้ายขยะนิวเคลียร์ในปี 2564
ฮิตาชิ – จีอีกำลังทดสอบแขนของหุ่นยนต์ที่โรงงานชูไก เทคโนส ซึ่งเป็นบริษัทวิศวกรรมที่อยู่ในฮิโรชิมา โดยเป็นการทดสอบโครงสร้างของหุ่นยนต์ในการขนย้ายขยะจากเตาปฏิกรณ์ที่ 2 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมา
“ หุ่นยนต์นี้จะมีแนวคิดในการพัฒนาที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ดั้งเดิมทั่วไป ” โคอิจิ คุโรซาวา วิศวกรอาวุโส หัวหน้าโครงการพฒนาของฮิตาชิ – จีอีกล่าว มีการนำระบบไฮโดรลิกมาใช้ เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่อันตรายสูงสุดภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้
ขณะที่ฮิตาชิ – จีอีสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ บริษัทก็ต้องประสบกับความท้าทายที่แตกต่างหลากหลายใหม่ๆ ในการพัฒนาหุ่นยนต์กล้ามเนื้อให้มีความเรียบง่าย เพราะงานที่ยากลำบากคือการขนย้ายขยะเชื้อเพลิง
จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงและสึนามิ ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาในเดือนมี.ค.ปี 2554 การจะทำให้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์เย็นลงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และเชื้อเพลิงยูเรเนียมที่หลอมละลายลดลงจากนิวเคลียร์ เชื้อเพลิงบางส่วนพุ่งทะลุทะลวงผ่านเครื่องควบคุมแรงดันของเตาปฏิกรณ์ และจับตัวกลายเป็นของแข็ง หรือซากเชื้อเพลิงที่เต็มไปด้วยยูเรเนียมและพลูโตเนียม
มีการประเมินว่า ซากเชื้อเพลิงที่จับตัวกลายสภาพเป็นของแข็งเหล่านี้จะมีน้ำหนักรวมกันมากกว่า 800 ตัน และสภาพแวดล้อมโดยรอบมีอุณหภูมิสูงจนมนุษย์ไม่สามารถอยู่รอดได้ หากหุ่นยนต์กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน จะใช้เวลาขนย้ายซากขยะนิวเคลียร์ทั้งหมดได้ภายในเวลา 1 ปี
ทั้งนี้ การดำเนินการรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์มีมูลค่าตลาดประมาณ 3 ล้านล้านเยน ( 27,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จึงไม่เพียงดึงดูดความสนใจจากผู้สร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทอื่นๆด้วยที่หวังจะได้โอกาสในการทำงานที่เสี่ยงอันตรายนี้.