นวัตกรรมอินเดียมีแนวโน้มแซงจีนในอนาคต
คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของนวัตกรรมในอินเดียจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในอีก 15 ปีข้างหน้า ขึ้นนำหน้ารัสเซียและอาจแซงผ่านจีน อ้างอิงจากผลการศึกษาของศูนย์แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ของจีนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ส.ค.
โดยเศรษฐกิจของอินเดียได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตมากกว่าจีนในปีนี้ จากตัวเลขล่าสุดที่ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี จะเติบโตอยู่ที่ 7.2% ในปี 2560 เปรียบเทียบกับจีนที่มีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 6.5%
ผลการศึกษายังเน้นที่การเติบโตในความก้าวหน้าด้านสติปัญญา เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมักใช้เป็นตัวชี้วัดการเติบโตของประเทศในอนาคต
“คาดการณ์ว่า ความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของอินเดียจะเห็นการเติบโตอย่างเด่นชัดที่เป็นไปได้ว่าจะแซงหน้าจีนในช่วงปี 2568 – 2572” อ้างอิงจากรายงานความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของกลุ่มประเทศ BRICS ประจำปี 2560
ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำในแง่ความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมในกลุ่มประเทศ BRICS ตามมาด้วยรัสเซีย แอฟริกาใต้ บราซิล และสุดท้ายคืออินเดีย
แต่อินเดียกำลังก้าวหน้าจากนวัตกรรม ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากการปฏิรูปประเทศของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ โดยโครงการสำคัญของรัฐบาล เช่น ดิจิทัลอินเดีย ซึ่งขยายโครงสร้างพื้นฐานออนไลน์ของประเทศ และสตาร์ทอัพอินเดีย ซึ่งส่งเสริมการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยหนุนภาคส่วนนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน การเติบโตด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ยังช่วยให้อินเดียกลายเป็นฮับของเอาท์ซอร์สที่โดดเด่นเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้มีกำหนดจะจัดการประชุมของผู้นำทั้ง 5 ประเทศที่เมืองเซียะเหมินของจีนในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของกลุ่มประเทศ BRICS เป็นครั้งที่ 9
ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่สงครามแนวพรมแดนระหว่างจีนและอินเดียที่เริมขึ้นในปี 2506 บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างกัน และเมื่อต้นปีนี้ อินเดียเป็นประเทศเดียวที่ประกาศต่อต้านนโยบาย Belt and Road ของจีน
อย่างไรก็ตาม นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกล่าวเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ว่า เขามองเห็นถึงศักยภาพมหาศาลจากความร่วมมือกันระหว่างอินเดียกับจีน
กลุ่มประเทศ BRICS มีจำนวนประชากรมากกว่า 2 ใน 5 ของประชากรทั่วโลก และครอบครองพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วโลก โดยกลุ่มประเทศนี้ยังมีจีดีพีรวมกันคิดเป็น 23% ของโลก และคิดเป็น 16% ของมูลค่าการค้าทั่วโลก.