แพทย์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19
บุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นในหลายเมืองใหญ่มีไม่ถึง 30% ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แม้จะมีเวลาเหลือเพียงหกสิบกว่าวันก่อนจะเริ่มต้นการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก จากรายงานของนสพ.นิกเคอิในวันที่ 19 พ.ค. ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกการแข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ
ตัวเลขทางการที่มีการเผยแพร่ออกมาในสัปดาห์นี้ชี้ว่า ตลอด 3 เดือนที่มีโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในญี่ปุ่น มีบุคลากรทางการแพทย์ไม่ถึง 40% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว
ปัญหาคือการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงโตเกียวและเมืองอื่นที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนของแพทย์น้อยกว่า 30% จากรายงานของสื่อนิกเคอิ
โดยสต็อกวัคซีนส่วนใหญ่กระจุกอยู่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และมีปัญหาในระบบการลงทะเบียนจองคิววัคซีนสำหรับบคุลากรทางการแพทย์ตามรายงานข่าว
การกระจายและฉีดวัคซีนที่ล่าช้าสำหรับแพทย์และพยาบาลยิ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคณะผู้จัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกที่ร้องขอบุคลากรทางการแพทย์มากถึง 1,000 คนเพื่อดูแลนักกีฬาในการแข่งขัน
ซูซูมะ โมริตะ เลขาธิการสหภาพบุคลากรทางการแพทย์ญี่ปุ่นออกแถลงการณ์ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือสถานการณ์การแพร่ระบาด ไม่ใช่โตเกียวโอลิมปิก
แถลงการณ์ประท้วงจากบรรดาพยาบาลที่คัดค้านการจัดการแข่งขันโอลิมปิกกลายเป็นไวรัลบนทวิตเตอร์ของญี่ปุ่น และมีการรีทวีตข้อความหลายแสนครั้ง
แม้แต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พยาบาลญี่ปุ่นก็ทำงานหนักและรายได้ไม่ดี เมื่อเทียบกับพยาบาลในสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร
รัฐบาลตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปได้ถึง 36 ล้านคนภายในสิ้นเดือนก.ค. เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รัฐบาลหวังว่าจะกระจายฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 1 ล้านโดสต่อวัน เร็วกว่าอัตราปัจจุบันประมาณ 3 เท่า
จนถึงตอนนี้ มีประชากรญี่ปุ่นเพียง 3.7% จากประชากรทั้งหมด 123 ล้านคนที่ได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งเป็นอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศร่ำรวย โดยหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านยาในญี่ปุ่น เพิ่งอนุมัติรับรองวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ – ไบโอเอนเทคเทคเพื่อใช้งานในญี่ปุ่นได้เพียงตัวเดียว
แต่ปริมาณวัคซีนของไฟเซอร์ที่ถูกส่งมาที่ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในเดือนพ.ค. และคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะอนุมัติรับรองวัคซีนของบริษํทโมเดอร์นาในสัปดาห์นี้เพื่อใช้ในศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่
ทั้งนี้ หน่วยงานในญี่ปุ่นกำลังพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนวัคซีนต้านโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัทแอสตราเซเนาด้วยเช่นกัน