ซีอีโอ’ไฟเซอร์’ค้านละเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. อัลเบิร์ต บูร์ลา ซีอีโอของบริษัทไฟเซอร์เตือนว่า การละเว้นสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนให้การสนับสนุน จะทำให้มีการแข่งกันหาส่วนผสมในการผลิตและส่งผลต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการผลิตวัคซีน
โดยเมื่อวันที่ 5 พ.ค. รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า ขอสนับสนุนการละเว้นสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อขยายกำลังการผลิตและการกระจายวัคซีนให้ไปถึงบรรดาประเทศรายได้น้อยที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19
แต่บูร์ลา ซึ่งบริษัทของเขาเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติเพื่อใช้ฉุกเฉินในสหรัฐฯ ระบุว่า เขาเชื่อว่า การละเว้นสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนตามข้อเสนอ “จะยิ่งสร้างปัญหาให้มากขึ้น”
“ปัจจุบัน โครงสร้างพื้นฐานไม่ใช่อุปสรรคของเราในการผลิตวัคซีนให้เร็วขึ้น” บูร์ลาระบุในจดหมายที่โพสต์บน LinkedIn “ สิ่งสำคัญคือวัตถุดิบส่วนผสมคุณภาพสูงที่ใช้ในการผลิตวัคซีนของเรา”
บูร์ลาระบุว่า วัคซีนของไฟเซอร์ต้องใช้วัตถุดิบส่วนผสมที่แตกต่างกันถึง 260 ตัว ที่มาจาก 19 ประเทศทั่วโลก เขาโต้แย้งว่า หากไม่มีการปกป้องสิทธิบัตร บริษัทผู้ผลิตที่มีประสบการณ์น้อยกว่าไฟเซอร์จะเริ่มแย่งกันหาวัตถุดิบแข่งกับบริษัท
“ ตอนนี้ วัตถุดิบทุกกรัมในการผลิตถูกส่งตรงมาที่โรงงานผลิตของเรา และออกมาเป็นวัคซีนที่เชื่อถือได้ในคุณภาพ ซึ่งจะถูกจัดส่งไปทั่วโลกทันที” บูร์ลาระบุ
เขาคาดการณ์ว่า ข้อเสนอให้มีการละเว้นสิทธิบัตรในการผลิตจะยิ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการสรรหาวัตถุดิบในการผลิตยิ่งขึ้น
“ นี่จะยิ่งทำให้มีการแย่งชิงวัตถุดิบสำคัญที่เราต้องการเพื่อผลิตวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ” บูร์ลาระบุ
“บริษัทที่มีประสบการณ์น้อย หรือไม่มีประสบการณ์เลยในการผลิตวัคซีนมีแนวโน้มจะไล่ล่าหาวัตถุดิบที่เราต้องการในการขยายกำลังการผลิต ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นกับความปลอดภัยโดยรวมของวัคซีน” ซีอีโอของไฟเซอร์ระบุ
บรรดาผู้นำในองค์การการค้าโลก (WTO) เร่งขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกบรรลุข้อตกลงในการละเว้นสิทธิบัตรในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ แต่แม้สหรัฐฯจะให้การสนับสนุนข้อเสนอนี้ แต่ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะบรรลุข้อตกลงนี้ได้ เนื่องจากกฎของ WTO ต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านความเห็นชอบของสมาชิกทั้ง 164 ประเทศ
เยอรมนี ซึ่งเป็นสมาชิก WTO และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป คัดค้านข้อเสนอการละเว้นสิทธิบัตรในวันที่ 6 พ.ค. เนื่องจากบริษัทไบโอเอนเทค ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับไฟเซอร์ในการพัฒนาวัคซีนตั้งอยู่ในเยอรมนี
PhRMA กลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมยา ที่มีสมาชิกอย่างไฟเซอร์และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ระบุว่าข้อเสนอให้ละเว้นสิทธิบัตรนั้น “ เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นการบ่อนทำลายการรับมือกับโรคระบาดของเรา และทำให้ความปลอดภัยลดลง”
ขณะเดียวกัน สเตฟาน บันเซล ซีอีโอของบริษัทโมเดอร์นา ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติรับรองในสหรัฐฯเช่นเดียวกัน กลับระบุว่า เขาไม่มีความกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอนี้เลย