รัสเซียประณามสหรัฐฯ เล่นเกมเรื่องวีซ่า
รัสเซียประณามการตัดสินใจของสหรัฐฯ ที่ให้ชาวรัสเซียต้องเดินทางไปที่กรุงมอสโกเท่านั้นหากต้องการขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ
โดยสถานทูตสหรัฐฯ ออกคำแถลงการณ์ว่า จะไม่มีการออกวีซ่าสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ผู้อพยพที่สถานกงสุลของสหรัฐฯ ในรัสเซียอีกต่อไป จะต้องไปยื่นคำขอวีซ่าที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงมอสโกเท่านั้น
นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า นี่เป็นความพยายามที่จะปลุกปั่นให้ชาวรัสเซียรู้สึกไม่ดีและไม่เข้าใจรัฐบาลของประเทศตัวเอง
ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา รัสเซียสั่งให้สหรัฐฯตัดเจ้าหน้าที่ทางการทูต 755 คนในรัสเซีย
สถานทูตสหรัฐฯ แถลงว่า จากความเชื่อมโยงกับคำสั่งของรัสเซียให้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ ลงเหลือ 455 คน ทางกงสุลสหรัฐฯ ในรัสเซียจึงหยุดการออกวีซ่าสำหรับผู้ที่ไม่ใช่ผู้อพยพตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.เป็นต้นไป และยังไม่มีเวลากำหนดแน่นอน
ส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ 755 คนนั้นเป็นการจ้างงานในประเทศรัสเซีย ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ต้องไปจากรัสเซียจริงๆ ทางเครมลินกล่าวว่า แทบจะบอกได้ว่า สหรัฐฯ จะมีจำนวนคนทำงานในระดับเดียวกับของรัสเซียในสหรัฐฯ
มีการแช่แข็งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ตั้งแต่รัสเซียเข้าผนวกรวมแคว้นไครเมียของยูเครนในปี 2557 เป็นต้นมา
ขณะที่กล่าวประณามการปรับเปลี่ยนเรื่องวีซ่า รัฐมนตรีลาฟรอฟกล่าวว่า รัสเซียจะไม่แก้เผ็ดหรือเอาคืนคนอเมริกันที่ต้องการขอวีซ่าเข้ารัสเซีย
“ ตรรกะของพวกเขาเป็นที่รู้จักกันดี คือ ตรรกะของพวกที่จัดการปฏิวัติเรื่องสีผิว และนี่ถือเป็นแรงเฉื่อยของการบริหารของโอบามา ” เขากล่าว
อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาประกาศว่า 35 นักการทูตของรัสเซียเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเชื่อมโยงกับการกล่าวหาว่ารัสเซียให้ความร่วมมือกับทีมทำงานของทรัมป์ ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งเหวี่ยงกลับไปจนทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง
ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และทีมทำงานของเขาบอกปัดว่าไม่มีการติดต่อเป็นพิเศษกับทางรัสเซีย โดยปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่ได้เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับทางรัสเซียเพื่อหวังผลทางการเมืองแต่อย่างใด
ทั้งนี้ คำกล่าวอ้างของรัฐมนตรีลาฟรอฟจากรัสเซียคือ การปฏิวัติสีผิว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของทางรัสเซียที่ว่า เมื่อใดที่สหรัฐฯ เข้าแทรกแซง จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตามมา เช่น การปฏิวัติกุหลาบในปี 2546 และการปฏิวัติสีส้มของยูเครนในปี 2547 โดยความเคลื่อนไหวทั้งสองครั้งเป็นการสนับสนุนผู้นำชาติตะวันตกให้ขึ้นสู่อำนาจในประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต.