EMA พบวัคซีน J&J เชื่อมโยงลิ่มเลือด
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. หน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องยาของยุโรประบุว่า พบความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันกับการเกิดลิ่มเลือดในผู้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง แต่สรุปว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
โดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ระบุว่า คณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยตัดสินใจให้เพิ่มคำเตือนเกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดที่ผิดปกติไว้บนฉลากของวัคซีน ทางหน่วยงานยังกำหนดให้วัคซีนคู่แข่งจากบริษัทแอสตราเซเนการะบุคำเตือนไว้ด้วยเช่นกัน โดย EMA ระบุเมื่อเดือนมี.ค.ว่า พบความเชื่อมโยงของวัคซีนกับการเกิดลิ่มเลือด
ทาง EMA พบว่า ผู้รับวัคซีนที่อายุน้อยกว่า 60 ปีจะมีโอกาสเกิดลิ่มเลือดได้ (โดยส่วนใหญ่เป็นหญิง) ภายใน 3 สัปดาห์หลังรับวัคซีน J&J ซึ่งเป็นวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวเดียวที่ฉีดเพียงเข็มเดียว ทางหน่วยงานยังระบุว่า ภาวะลิ่มเลือดถือเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยากจากวัคซีน
หลักฐานที่พบในการประเมินทั้งหมดคือ 8 รายที่รับวัคซีนในสหรัฐฯ รวมถึงผู้เสียชีวิตหนึ่งราย
ทาง EMA ยังระบุว่า ผู้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมองและช่องท้อง เหมือนกับเคสของผู้รับวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ซึ่งมีปัญหาเกิดลิ่มเลือดเช่นกัน
การอัพเดทข้อมูลของ EMA มีขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท J&J ได้ระงับการกระจายวัคซีนในยุโรปเพื่อปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (FDA) ที่สั่งระงับการใช้วัคซีนตัวนี้ในสหรัฐฯ เนื่องจากพบภาวะลิ่มเลือดที่เชื่อมโยงกับวัคซีน
มีรายงานนี้หลังจากมีการฉีดวัคซีน J&J ไปแล้วกว่า 7 ล้านโดสในสหรัฐฯจนถึงวันที่ 13 เม.ย.
ทางบริษัทแนะนำให้รัฐบาลในยุโรปเก็บวัคซีนไว้จนกว่าทาง EMA จะออกคำแนะนำในการใช้งานวัคซีน
โดยบริษัทระบุว่า ตั้งเป้าหมายจะจัดส่งวัคซีน 55 ล้านโดสให้อียูได้ตามสัญญาภายในเดือนมิ.ย. วัคซีนตัวนี้เป็น 1 ใน 4 วัคซีนที่ผ่านการอนุมัติรับรองให้ใช้ในอียู
ทั้งวัคซีน J&J และแอสตราเซเนกา รวมถึงวัคซีนที่รัสเซียและจีนพัฒนา ล้วนผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน
ด้วยการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันจดจำโปรตีนตรงส่วนหนามของไวรัสโคโรนา โดยใช้ไวรัสเชื้อตายเพื่อนำพันธุกรรมผิวโปรตีนเข้าสู่ร่างกาย
“มีความสงสัยมากขึ้นว่าลิ่มเลือดอาจถูกกระตุ้นจากส่วนประกอบไวรัสในวัคซีนของแอสตราเซเนกาและ J&J” เอเลนอร์ ไรลีย์ อาจารย์ด้านภูมิคุ้มกันและโรคติดต่อที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระกล่าวกับสำนักข่าว AP