10 ชาติศก.ใหญ่สุดในโลก ก่อนโควิดและปัจจุบัน
สิงคโปร์ – การแพร่ระบาดของโควิด-19 เขย่าอันดับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากทำให้หลายประเทศตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่สุดในประวัติศาสตร์
สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเยอรมนียัวคงอยู่ใน 4 อันดับแรกของประทเศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก แต่หลายอันดับมีการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบของโควิด-19 ขณะที่มีหนึ่งประเทศร่วงจาก 10 อันดับแรก จากข้อมูลการวิเคราะห์ตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ของสื่อ CNBC
โดย 10 อันดับแรกของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล และแคนาดา
ขณะที่ 10 อันดับแรกของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกหลังการแพร่ระบาดคือ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร อินเดีย ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา เกาหลีใต้
อินเดีย ซึ่งอยู่ในอันดับ 5 ในปี 2562 หล่นลงมาอยู่อันดับ 6 ตามหลังสหราชอาณาจักรในปีที่แล้ว
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของ IMF สื่อ CNBC รายงานว่า อินเดียจะไม่สามารถกลับไปรั้งตำแหน่ง 5 ได้อีกจนถึงปี 2566
เนื่องจากอินเดียมีมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในปีที่แล้วเพื่อควบคุมการระบาด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะหดตัวลง 8% ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.2564
ขณะที่ IMF คาดการณ์ว่เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโต 12.5% ในปีงบประมาณปัจจุบันที่สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2565 นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดกระทบกับตัวเลขคาดการณ์ สัปดาห์ที่แล้ว อินเดียมียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแซงบราซิลขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองลงมาจากสหรัฐฯ
บราซิลร่วงลงมาจากอันดับ 9 ของ 10 ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 12 ในปีที่แล้ว
ทำให้เป็นประเทศเดียวที่ร่วงลงมาจาก 10 อันดับแรก และจากการคาดการณ์ของ IMF บราซิลจะกลับขึ้นไปติด 10 อันดับแรกได้เร็วที่สุดคือในปี 2569
เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงแรกๆนอกจากจีนในช่วงต้นปี 2563 และประสบความสำเร็จในการควบคุมไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพในปีที่แล้ว รวมถึงตัวเลขการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่ง ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้หดตัวลงเพียง 1% ในปี 2563
จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ทำให้ทางการต้องขยายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่คุมเข้มการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากจนถึงต้นเดือนพ.ค.
แม้จะมีความผันผวนของสถานการณ์ไวรัส แต่การผลิตและการส่งออกของเกาหลีใต้ยังแข็งแกร่ง นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษา Capital Economics ระบุในรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อน
“การบริโภคเพิ่มขึ้นแม้มีการแพร่ระบาดของไวรัส ด้วยอานิสงส์จากการค้าปลีกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนโรงแรมและท่องเที่ยวยังคงอ่อนแรง”
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะเติบโตได้ถึง 3.6% ในปีนี้