บริโภคในประเทศหนุนศก.ญี่ปุ่นโต
เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 นับเป็นช่วงเวลาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ เนื่องจากดีมานด์ในประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งชดเชยกับยอดส่งออกที่อ่อนแรงลง
โดยครั้งสุดท้ายที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเป็นช่วงเวลายาวนานต้องย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2549 ในระหว่างสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจุนิชิโร โคอิซุมิ ซึ่งเป็นการขยายตัวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา หลังจาก 4 ปีของการบริหารประเทศของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง เศรษฐกิจเติบโตสูงกว่าอัตราเติบโตโดยเฉลี่ย เงินเฟ้อยังคงต่ำ ถึงแม้จะมีมาตรการกระตุ้นทางการเงินจากธนาคารกลาง นักเศรษฐศาสตร์กำลังจับตามองดูสัญญาณของตลาดแรงงานที่หนาแน่นที่สุดในรอบหลายทศวรรษกำลังเริ่มที่จะหนุนให้ค่าจ้างสูงขึ้น
จากผลลัพธ์ที่ดี รัฐบาลจึงไม่ได้พิจารณามาตรการทางเศรษฐกิจใหม่ๆในตอนนี้ อ้างอิงจากโทชิมิตสุ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเขากล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบก่อนหน้านี้เห็นผลชัดเจนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ยูกิ มาสุจิมา นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์ก เน้นในบทวิเคราะห์ว่า จีดีพีที่แข็งแกร่ง ซึ่งเห็นได้จากเศรษฐกิจที่เติบโตสูงกว่าที่เคยประเมินไว้คือ 0.8% อาจช่วยหนุนให้ความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีอาเบะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีเหตุผลที่จะคงนโยบายทางการเงินไว้คงเดิม ขณะที่เงินเฟ้อเป็นไปตามทิศทางที่กำหนดไว้ อ้างอิงจากมาสุจิมา
“จากการปรับเปลี่ยนจากแรงขับเคลื่อนการเติบโตของดีมานด์ภายนอกประเทศ มาเป็นดีมานด์ในประเทศช่วยผ่อนคลายความเสี่ยงที่จะทำให้ความต้องการที่จะพักเงินไว้ที่สกุลเงินเยนมีมากขึ้น โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์อาวุธนิวเคลียร์ที่ตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ” อ้างอิงจากความเห็นของมาสุจิมา “ช่องว่างผลผลิตด้านบวกที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความกดดันด้านราคา โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะขยับเข้าใกล้ 1% ใน 3 ไตรมาส ในความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก ซึ่งจะช่วยหนุนนโยบายส่งเสริมเงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่น”
โดยรายละเอียดอื่นๆคือ
- เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จีดีพีเพิ่มขึ้น 1.0% ( จากที่เคยคาดการณ์ไว้คือ 0.6%)
- สินค้าคงคลังภาคเอกชนไม่ส่งผลกระทบต่อจีดีพี
- การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 5.1% ในไตรมาส 2
- ดัชนีราคาผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาที่เปลี่ยนแปลงที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง ลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน.