เกาหลีใต้ตั้งอนุสรณ์อุทิศให้แรงงานในอดีต
รูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวเกาหลีใต้ที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกตั้งไว้ที่ด้านหน้าของสถานียงซาน ใจกลางกรุงโซลเมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา
ระหว่างที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองและสร้างอาณานิคมในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี 2453 ถึงปี 2488 แรงงานทั้งหมดจะต้องมารวมตัวกันที่สถานีดังกล่าว เพื่อจะถูกส่งตัวไปให้บริษัทของญี่ปุ่นแต่ละแห่ง
สมาพันธ์แรงงานเกาหลี และสหพันธ์แรงงานเกาหลี หรือกลุ่มสหภาพแรงงานหลัก 2 แห่งของเกาหลีใต้ เป็นผู้นำในการสร้างอนุเสาวรีย์แห่งนี้ โดยระบุว่า ต้องการจะแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาที่โหดร้ายในอดีต
คิม จู ยอง ประธานของสหพันธ์แรงงานเกาหลีระบุในงานเปิดตัวอนุเสาวรีย์แห่งนี้ว่า รูปปั้นที่มีความสูง 2 เมตร สร้างขึ้นเพื่อ “ แสดงให้เห็นถึงความจริงเกี่ยวกับพรรคจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่นให้ได้รู้จักในวงกว้าง และเพื่อให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นออกมาแสดงความขอโทษ โดยต้องการที่ย้ำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยอีกครั้ง ”
โดยมีรูปปั้นอีกชิ้นหนึ่งซึ่งถูกตั้งอยู่ในสวนที่อินชอน หรือทางตะวันตกของกรุงโซล
ในขณะนี้ยังมีโครงการที่จะสร้างรูปปั้นในลักษณะคล้ายคลึงกันอีก ซึ่งจะมีการติดตั้งอีกชิ้นหนึ่งที่ด้านหน้าของสถานฑูตญี่ปุ่นในกรุงโซล
ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาเรียกร้องเจ้าหน้าที่ของทางเกาหลีใต้ว่าให้หยุดการผลิตรูปปั้นดังกล่าวก่อนหน้านี้
ในเกาหลีใต้ กลุ่มอดีตแรงงานได้ออกมายื่นฟ้องบริษัทของญี่ปุ่นที่ใช้พวกเขาเป็นแรงงานระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการตัดสินคดีแล้วทั้งหมด 2 คดี ศาลในเขตกวางจูได้ตัดสินให้บริษัทมิตซูบิชิ เฮฟวี อินดิสทรี จ่ายค่าชดเชยให้กับอดีตแรงงานหญิงและครอบครัวของผู้ใช้แรงงานทั้งหมดนับตั้งแต่ที่ผู้ใช้แรงงานเสียชีวิตลง
โดยทางมิตซูบิชิจำเป็นต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับเหยื่อทั้งหมด 4 ราย เป็นเงิน 470 ล้านวอน.