15 ประเทศในอียูพบไข่ปนเปื้อน
คณะกรรมาธิการยุโรปรายงานว่า 15 ประเทศในสหภาพยุโรป รวมทั้งฮ่องกงและสวิตเซอร์แลนด์พบไข่ที่ปนเปื้อนสารฟีโปรนิลในยาฆ่าแมลง
โดยคณะกรรมาธิการจะจัดการประชุมระหว่างบรรดารัฐมนตรีและหน่วยงานที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 26 ก.ย. ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยของอาหารได้เรียกร้องให้ทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบหยุดกล่าวหาและต่อว่ากันเอง
ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างทางการเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์เกี่ยวกับประเด็นการปนเปื่อนสารพิษในไข่
ทั้งนี้ ไข่ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้ามาจากเนเธอร์แลนด์ พบว่ามีสารฟีโปรนิล ซึ่งเป็นสารที่ใช้สำหรับกำจัดหมัดและเห็บในสัตว์เลี้ยงและถูกห้ามใช้ในอุตสาหกรรมอาหารจากอียู เชื่อกันว่ามีการใช้สารฟีโปรนิลเพื่อกำจัดหมัดของไก่ในฟาร์มเลี้ยงไก่ จึงส่งผลกระทบกับแม่ไก่ที่กำลังวางไข่
โดยยาฆ่าแมลงชนิดนี้สามารถทำลายไต ตับและต่อมไทรอยด์ของมนุษย์ หากบริโภคเข้าไปเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หน่วยงานควบคุมมาตรฐานอาหารลดความสำคัญของความเสี่ยงสำหรับผู้ที่บริโภคไข่ที่ปนเปื้อนลง
ดาเนียล โรซาริโอ โฆษกของคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ว่า มีการสั่งปิดฟาร์มจำนวนมากในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมนีและฝรั่งเศส หลังจากทางการยืนยันว่าพบการใช้สารฟีโปรนิลในฟาร์มเหล่านั้น
ประเทศในอียูที่ได้รับไข่ปนเปื้อนคือสหราชอาณาจักร สวีเดน ออสเตรีย ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวีเนีย สโลวาเกียและเดนมาร์ก รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งไม่ใช่ประเทศในอียู
หน่วยงานควบคุมอาหารในสหราชอาณาจักรรายงานว่า มีไข่ประมาณ 700,000 ฟองที่ถูกนำเข้ามาในสหราชอาณาจักรจากฟาร์มที่มีสารปนเปื้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชาวดัตช์ เพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินก่อนหน้านี้คือ 21,000 ฟอง โดย Food Standards Agency (FSA) ระบุว่า มีแนวโน้มสูงมากที่จะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของสาธารณชน
อาหารแปรรูปที่มีส่วนประกอบจากไข่ เช่น แซนด์วิชและสลัดถูกเรียกคืนจากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ทั้ง Sainsbury’s, Morrisons, Waitrose และ Asda โดยซูเปอร์มาร์เก็ตในเบลเยียมและเยอรมนีก็เก็บไข่ออกจากชั้นขายสินค้า
ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศผู้ผลิตไข่รายใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่รายใหญ่ของโลก
ปัญหานี้ถูกเปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.เมื่อเชนซูเปอร์มาร์เก็ต Aldi เก็บไข่ออกจากชั้นวางขายในเยอรมนี มีข่าวแพร่มาว่าทางการเบลเยียมรู้เกี่ยวกับการปนเปื้อนตั้งแต่เดือนมิ.ย. แต่ไม่แจ้งให้สาธารณชนรับทรา ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของเบลเยียมกล่าวหาว่าทางการดัตช์ทราบปัญหาการปนเปื้อนของไข่ตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่หน่วยงานตรวจสอบคุณภาพอาหารของเนเธอร์แลนด์ปฏิเสธ.