เสียชีวิตจากโควิดทั่วโลกทะลุ 3 ล้านคน
ตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโควิด-19 สูงเกิน 3 ล้านคนในวันที่ 17 เม.ย. ท่ามกลางการฉีดวัคซีนที่ล่าช้าในหลายประเทศ และกลายเป็นวิกฤตในหลายประเทศ ทั้งบราซิล อินเดีย และฝรั่งเศส
โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์เท่ากับจำนวนประชากรในกรุงเคียฟของยูเครน กรุงลิสบอนของโปรตุเกส มากกว่าประชากรในชิคาโก และเท่ากับประชาชนในฟิลาเดลเฟียและดัลลาสรวมกัน
และเชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงจะสูงกว่านี้ เนื่องจากไม่มีการบันทึกผู้ที่เสียชีวิตในระยะแรกๆของการระบาดในเมืองอู่ฮั่นของจีนช่วงปลายปี 2562
เมื่อโลกมีผู้เสียชีวิตทะลุ 2 ล้านรายในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาขนทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ จนถึงวันนี้ มีการฉีดวัคซีนกว่า 190 ประเทศ ทำให้มีความก้าวหน้าในการควบคุมไวรัสเป็นวงกว้าง
แต่ยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีกครั้ง คือประมาณ 12,000 รายต่อวันโดยเฉลี่ย และยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน คือประมาณ 700,000 รายต่อวัน
“ นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เราต้องการเป็นใน 16 เดือนของการระบาด ซึ่งเรามีมาตรการควบคุมแล้ว” มาเรีย แวน เคิร์กโฮฟ หนึ่งในผู้บริหารขององค์การอนามัยโลกด้านโควืด-19 กล่าว
ที่บราซิล อัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 3,000 รายต่อวัน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลกในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้ นอกจากนี้ ไวรัสกลายพันธุ์ในบราซิลทำให้มีการติดเชื้ออย่างรวดเร็วทั่วประเทศ
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของบราซิลพึ่งพาวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตแห่งเดียว เมื่อเกิดวิกฤต จึงช้าเกินไปที่จะหาวัคซีนได้ทัน โดยพยาบาลบราซิลคนหนึ่งระบุว่า การระบาดในปีนี้แย่กว่าเดิม มีผู้ป่วยอาการหนักมากกว่าเดิมถึง 1,000 เท่า
สถานการณ์ดูจะย่ำแย่เหมือนกันในอินเดีย ซึ่งผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นในเดือนก.พ. หลังลดลงนานหลายสัปดาห์ โดยอินเดียได้รับผลกระทบจากไวรัสกลายพันธุ์ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 180,000 รายในรอบ 24 ชม. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในอินเดียสูงเกิน 13.9 ล้านราย
ปัญหาเดิมๆของอินเดียในปีที่แล้วกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง โดยบ่ายวันที่ 14 เม.ย. มีเครื่องช่วยหายใจว่างอยู่เพียง 178 เครื่องในกรุงนิวเดลี ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ 29 ล้านคน และมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 13,000 รายในวันก่อนหน้านี้
ในฝรั่งเศส มีผู้ป่วยอาการหนักเกือบ 6,000 รายรักษาตัวในห้องไอซียู ตัวเลขสูงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่มีการระบาด
ดร.มาร์ค เลออง หัวหน้าห้องไอซียูประจำรพ.นอร์ธในเมืองมาร์เซยระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าล้วนอ่อนล้าหมดแรง ที่เคยถูกยกย่องให้เป็นฮีโร่ในช่วงแรกของการระบาดตอนนี้รู้สึกโดดเดี่ยว หวังว่าจะมีมาตรการคุมเข้มอื่นๆเพื่อช่วยสกัดการระบาดของไวรัสในช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้
“ มีความเหนื่อยล้า ความรู้สึกแย่มาก คุณต้องระวังตัวมากขึ้น เราจะทำทุกอย่างเพื่อให้ผ่านช่วง 15 วันนี้ไปอย่างดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ”