นิวซีแลนด์/ออสเตรเลียฉีดวัคซีนล่าช้า
ปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ล็อกดาวน์ทั่วประเทศนาน 5 สัปดาห์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างเร็ว แม้จะปิดประเทศไม่รับนักเดินทางต่างชาติกว่าหนึ่งปีก็ตาม โดยนิวซีแลนด์มีผู้ป่วยยืนยันสะสมประมาณ 2,500 รายและมีผู้เสียชีวิต 26 ราย
แต่ปัจจุบัน นิวซีแลนด์กลับประสบปัญหาในการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าช้า ไม่เร็วเท่ากับชาติอื่นๆที่มีความก้าวหน้าในการฉีดวัคซีนไปมาก เช่น อิสราเอล สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร
โดยจนถึงตอนนี้ ชาวอเมริกันได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 โดสแรกไปแล้ว 37% ของประชากรทั้งประเทศ โดยนักวิเคราะห์ของสื่อ CNN ประเมินว่า สหรัฐฯจะมีภูมิคุ้มกันหมู่จากวัคซีนได้ภายในช่วงฤดูร้อนนี้ เนื่องจากจะสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 70% – 80% ของประชากรทั้งประเทศ
ขณะที่สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ประกาศอนุมัติรับรองวัคซีนต้านโควิด-19 ในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ได้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วถึง 47% ของประชากรทั้งประเทศ
ตรงข้ามกับนิวซีแลนด์ ประเทศไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในปีที่แล้วได้ดี ต่างมีอัตราการฉีดวัคซีนไม่ถึง 4% ของจำนวนประชากรในประเทศ
รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมจากโควิด-19 ประมาณกว่า 29,000 รายและมีผู้เสียชีวิต 910 ราย กลับมีรายงานอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนจนถึง 12 เม.ย.เพียง 1.2 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 25 ล้านคน
สถานการณ์แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ประเทศในเอเชีย – แปซิฟิกเหล่านี้ไม่ได้ลงนามข้อตกลงกับผู้ผลิตวัคซีนได้เร็วเท่าประเทศอื่น
ในเดือนส.ค. 2563 เมื่อออสเตรเลียลงนามในดีลซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกา โดยนายกรัฐมนตรีสก็อต มอร์ริสันระบุในเวลานั้นว่า “ ชาวออสเตรเลียจะเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19”
แต่หลังจากนั้น การฉีดวัคซีนก็กลับล่าช้า โดยนายกฯมอร์ริสันกล่าวโทษสหภาพยุโรปว่าบล็อกซัพพลายวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่จะส่งมาออสเตรเลีย แต่อียูปฏิเสธว่าไม่จริง
ออสเตรเลียเหมือนกับเกาหลีใต้ คือสามารถผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนกาในประเทศได้ แต่ตอนนี้ประเทศแนะนำให้ฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาให้เฉพาะผู้มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ที่มีอายุน้อยกว่านั้นจะได้รับวัคซีนของบ.ไฟเซอร์ แต่ซัพพลายวัคซีนก็มีอยู่จำกัด
ผู้เชี่ยวชาญกังวลถึงแผนกระจายวัคซีนในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อทั้งสองประเทศมีเวลามากกว่าประเทศอื่นๆในการเตรียมพร้อม
“นิวซีแลนด์ไม่มีแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข เรามีเวลามากมายที่จะเตรียมพร้อม และมีบางอย่างที่ควรทำได้เร็วกว่านี้” เฮเลน เพทูสิส-แฮร์ริส นักวัคซีนวิทยาประจำ ม.โอ๊กแลนด์ และผู้บริหารร่วมของ Global Vaccine Data Network กล่าว
เมื่อถูกถามในช่วงสุดสัปดาห์เรื่องการฉีดวัคซีนล่าช้าในนิวซีแลนด์ นายกรัฐมนตรีจาซินดา อาร์เดิร์นระบุว่า ประเทศยอมรับว่าไม่ได้เป็นประเทศแรกๆที่ได้รับวัคซีน และไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย
“ดิฉันยอมรับความจริงว่าเราล่าช้าในการสั่งซื้อ” เธอกล่าวให้สัมภาษณ์ โดยระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะได้รับวัคซีนด้วยเช่นกัน “ ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าเราทั้งหมดจะได้รับวัคซีนเป็นวงกว้าง เพราะหากมีวัคซีนผุดขึ้นในประเทศใด เกิดการกลายพันธุ์ ก็จะกระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน หมายความว่าไม่มีคนปลอดภัย”
“ มีหลายประเทศฉีดวัคซีนให้ประชาชน นิวซีแลนด์มีความเสี่ยงที่จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” คริส บิชอป นักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านของนิวซีแลนด์กล่าว “ การกำจัดโควิด-19 ในนิวซีแลนด์ควรเป็นโอกาสสำหรับเราในการฟื้นฟูประเทศได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆในโลก เรากลับมีความเสี่ยงจากความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีน”