‘ไบเดน’ เริ่มถอนทหารสหรัฐฯ จากอัฟกานิสถาน 1 พ.ค.
วอชิงตัน : เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ประธานาธิบดีโจ ไบเดนประกาศว่า ถึงเวลายุติสงครามที่ยาวนานที่สุดของสหรัฐฯ ด้วยการถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานโดยไม่มีเงื่อนไข หลังสหรัฐฯ ทำสงครามนองเลือดต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายตาลีบันมายาวนานถึงสองทศวรรษ
สงครามในอัฟานิสถานถูกเรียกขานว่า ‘สงครามชั่วนิรันดร์’ โดยสหรัฐฯมีปฏิบัติการทางทหารตอบโต้กองกำลังตาลีบันในอัฟกานิสถานหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญสหรัฐฯถูกโจมตีในวันที่ 11 ก.ย. 2544
ปัจจุบัน 20 ปีต่อมา หลังการเสียชีวิตในสงครามของทหารอเมริกันเกือบ 2,400 นายและชาวอัฟกานิสถานนับแสนคน ประธานาธิบดีไบเดนได้ขีดเส้นตายกำหนดให้วันที่ 11 ก.ย.เป็นวันที่รัฐบาลจะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟานิสถานเป็นวันสุดท้าย โดยจะเริ่มดำเนินการถอนทหารออกมาตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป
ในการแถลงทางโทรทัศน์ ไบเดนระบุว่า สหรัฐฯบรรลุภารกิจในการก่อสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีสหรัฐฯในวันที่ 11 ก.ย. แล้ว และในแต่ละปีที่ผ่านไป มีการตั้งคำถามมากขึ้นที่ทหารจะประจำการที่นั่น
“ เหตุโจมตีสะเทือนขวัญเมื่อ 20 ปีก่อน ไม่อาจอธิบายได้ว่า ทำไมทหารของเราจึงยังอยู่ที่นั่นจนถึงปีนี้” เขากล่าว “ ถึงเวลาต้องยุติสงครามชั่วนิรันดร์แล้ว”
โดยไบเดนกล่าวกับชาวอเมริกันว่า ถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริง
การตัดสินใจของไบเดนไม่ทำให้คนประหลาดใจนัก เนื่องจากชาวอเมริกันที่เป็นฐานเสียงของเขาไม่พอใจสงครามนี้อยู่แล้ว และก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เคยให้คำมั่นว่าจะถอนทหารออกมาโดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพ.ค.
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. อัชราฟ กานี ประธานาธิบดีอัฟกานิสถานยืนยันหลังพูดคุยกับไบเดนทางโทรศัพท์ว่า กองทัพของเขามีศักยภาพเต็มที่ในการควบคุมประเทศ และไบเดนระบุว่า สหรัฐฯจะให้การสนับสนุนรัฐบาลอัฟกานิสถานต่อไป ไม่เพียงแต่ในด้านกำลังทหารเท่านั้น
เขายังระบุว่า สหรัฐฯยังรักษาสัญญาในการป้องกันไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายนานาชาติมาตั้งฐานที่มั่นในอัฟกานิสถาน
ขณะที่ปากีสถาน ซึ่งมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับกลุ่มตาลีบัน ควรแสดงท่าทีมากกว่านี้ในการสนับสนุนอัฟกานิสถาน
เมื่อสิบปีก่อน สหรัฐฯมีกำลังทหารประมาณ 100,000 นายในอัฟกานิสถาน ปัจจุบัน กองกำลังของ NATO ที่นำโดยสหรัฐฯมีประมาณ 9,600 นาย โดยเป็นทหารอเมริกัน 2,500 นาย NATO ประกาศว่า การถอนทหารจะดำเนินไปอย่างเป็นระเบียบ ด้วยความความร่วมมือกันและรอบคอบ เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป
วิลเลียม เบิร์นส์ ผอ.CIA ระบุเมื่อวันที่ 14 เม.ย.ว่า หลังจากรับมือกับการก่อการร้ายมานานหลายปี กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติที่มีฐานที่มั่นในสหรัฐฯไม่ได้เป็นภัยคุกคามสำคัญสำหรับสหรัฐฯ แล้ว
การถอนทหารของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดคำถามใหญ่เกี่ยวกับอนาคตจากความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะปรับเปลี่ยนอัฟกานิสถานให้ทันสมัย โดยเฉพาะผู้หญิงชาวอัฟกันที่ได้ประโยชน์จากสิทธิที่เพิ่มขึ้น เช่นสิทธิในการเข้าถึงการศึกษา
ทั้งนี้ กลุ่มตาลีบัน ห้ามไม่ให้ผู้หญิงไปโรงเรียน ไปทำงานที่ออฟฟิศ หรือควบคุมชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ของผู้หญิงในอัฟกานิสถานในช่วงปี 2539 – 2544 สองทศวรรษต่อมา เด็กนักเรียนในโรงรียนเป็นเด็กหญิงถึง 40%