กาตาร์ยกเลิกวีซ่าให้ 80 ประเทศ
กาตาร์ประกาศเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ว่า จะยกเลิกวีซ่าเข้าประเทศกาตาร์ให้นักเดินทางจาก 80 ประเทศทั่วโลกเพื่อหนุนการเดินทางทางอากาศและการท่องเที่ยว หลังจากถูกกาตาร์ถูกบอยคอตจากประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เชียนาน 2 เดือนแล้ว
นักเดินทางจากประเทศในยุโรปและที่อื่นๆ ทั้งอินเดีย เลบานอน นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และสหรัฐฯ จะใช้เพียงแค่หนังสือเดินทางเล่มเดียวในการผ่านเข้าประเทศกาตาร์ที่ร่ำรวยจากก๊าซธรรมชาติ และกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2565
โดยพลเมืองจาก 33 ประเทศได้รับอนุญาตให้อยู่ในกาตาร์ได้เป็นระยะเวลานานถึง 180 วัน และอีก 47 ประเทศอยู่ได้ 30 วัน
“ การยกเว้นวีซ่าจะทำให้กาตาร์เป็นประเทศที่เปิดกว้างต้อนรับผู้มาเยือนมากที่สุดในภูมิภาค ” ฮัสซัน อัล-อิบราฮิม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวกาตาร์กล่าวกับผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงโดฮา
ทั้งนี้ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ พร้อมทั้งอียิปต์ บาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ประกาศบอยคอตตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.และตัดโครงข่ายเส้นทางคมนาคมทั้งหมดกับกาตาร์ โดยอ้างว่า กาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน โดยทางโดฮาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
หลังถูกบอยคอต กาตาร์ต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับประเทศอื่นๆ การยกเลิกวีซ่าเป็นมาตรการล่าสุดในการเตรียมความพร้อมให้กาตาร์มีอิสรภาพทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นในระยะยาว โดยคูเวตเป็นประเทศที่พยายามจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทนี้
โดยกาตาร์ต้องนำเข้าอาหารจากตุรกีและอิหร่าน และเส้นทางการบินใหม่ผ่านประเทศโอมานจะช่วยนำวัสดุก่อสร้างเข้ามา อย่างไรก็ตาม ยอดเข้าพักในโรงแรมลดลงเนื่องจากนักท่องเที่ยวจากซาอุฯ ถูกรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้เดินทางเข้ากาตาร์
นักท่องเที่ยวจาก 6 ประเทศอ่าวเปอร์เชียมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในกาตาร์ การถูกปิดน่านฟ้าจาก 4 ประเทศอาหรับกระทบเที่ยวบินประมาณ 25% ของสายการบินกาตาร์แอร์เวย์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง
เมื่อวันที่ 3 ส.ค.กาตาร์อนุมัติกฎหมายให้พลเมืองถาวรได้รับผลประโยชน์จากสวัสดิการสังคมจากภาครัฐ
ทั้งการศึกษาและบริการสาธารณสุข โดยภายใต้กฎหมายนี้ เด็กที่เกิดจากแม่ที่เป็นพลเมืองกาตาร์ซึ่งแต่งงานกับชาวต่างชาติ และประชาชนที่มีทักษะพิเศษเป็นที่ต้องการของภาครัฐจะสามารถได้รับผลประโยชน์จากสถานะใหม่
แรงงานข้ามชาติจากหลายประเทศทั้งอินเดียและเนปาลมีสัดส่วนคิดเป็น 90% ของจำนวนประชากร 2.7ล้านคนของประเทศ โดยคณะกรรมการจัดงานการแข่งฟุตบอลโลกของกาตาร์ กล่าวว่า มาตรการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศอาหรับจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเตรียมจัดงานแต่อย่างใด.