WHO โวย ประเทศรวย-จนเข้าถึงวัคซีนโควิดต่างกันมาก
เจนีวา : เมื่อวันที่ 9 เม.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) ประณามช่องว่างที่ห่างกันมากระหว่างประเทศรวยและจนในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19 โดยเสริมว่า มีกว่า 12 ประเทศที่ยังคงไม่มีวัคซีน
ดร.เทดรอส อดานอม กีบรีเยซุส ผอ.WHO (ซึ่งเคยวิจารณ์ประเทศร่ำรวยอย่างรุนแรงที่ซื้อวัคซีนตุนให้ประเทศตัวเอง) โวยวายว่าไม่มีวัคซีนเพียงพอให้ประเทศยากจน
โดยเป้าหมายของเขาที่หวังให้ทุกประเทศมีวัคซีนใช้ภายใน 100 วันแรกของปี 2564 นั้นพลาดเป้า
“ มีความไม่สมดุลที่น่าตกใจในการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลก” เทดรอสระบุในการแถลงข่าว
จากถ้อยแถลงของเขา จากทั้งหมด 220 ประเทศและดินแดน มี 194 ประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนแล้ว ขณะที่อีก 26 ประเทศที่เหลือ มี 7 ประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้วและเตรียมพร้อมที่จะฉีดวัคซีน และอีก 5 ประเทศจะได้รับวัคซีนล็อตแรกในไม่กี่วันนี้
แต่อีก 14 ประเทศ ซึ่งบางประเทศไม่ได้ขอวัคซีนผ่านโครงการโคแวกซ์ บางประเทศยังไม่พร้อม และบางประเทศมีแผนจะเริ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนนี้
“ เรามั่นใจว่า เกือบทุกประเทศที่อยากเริ่ม จะได้เริ่มตั้งแต่ตอนนี้” เทดรอสกล่าว
“อย่างไรก็ตาม ผมย้ำที่คำว่าเริ่ม ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ไม่มีวัคซีนเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด นี่ไม่ต้องพูดถึงประชากรกลุ่มอื่นในประเทศ”
จากข้อมูลของสื่อ AFP มีการกระจายวัคซีนไปแล้วกว่า 732 ล้านโดสใน 195 ประเทศและดินแดนทั่วโลก
โดยประมาณ 49% ของวัคซีนทั้งหมดฉีดอยู่ในประเทศรายได้สูง ซึ่งคิดเป็น 16% ของประชากรทั่วโลก มีเพียง 0.1% ที่ได้ฉีดวัคซีนใน 29 ประเทศรายได้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรโลกประมาณ 9%
ดร.เทดรอสเปรียบเทียบประเทศรายได้สูงบางประเทศว่ามีอัตราส่วนการรับวัคซีนโดสแรกประมาณ 1 ใน 4 ขณะที่ประเทศรายได้น้อย มีอัตราการรับวัคซีนน้อยกว่า 1 ใน 500
โครงการโคแวกซ์ที่นำโดย WHO ซึ่งมีเจตนาที่ดีที่จะแบ่งปันวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ทั่วถึงทั่วโลก ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายเดิมที่ระบุว่า จะกระจายวัคซีนทั่วโลกได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นเดือนมี.ค. เพราะจนถึงตอนนี้ มีการกระจายวัคซีนได้เพียง 38 ล้านโดส ใน 105 ประเทศและดินแดน
“เราหวังว่าจะเร่งให้ได้ตามเป้าในช่วงเดือนเม.ย.และพ.ค.” เทดรอสกล่าว
เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ผู้เชี่ยวชาญวัคซีนของ WHO ระบุความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนต้านโควิด-19 ของบ.แอสตราเซเนกากับภาวะลิ่มเลือดว่า “เป็นไปได้แต่ไม่ยืนยัน” โดยย้ำว่าโอกาสที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในสมองนั้นมีน้อยมาก
โดยเทดรอสระบุเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ว่า ทาง WHO ยังคงแนะนำให้ใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาต่อไป
“ประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ยาก”
“ วัคซีนและยาทั้งหมดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง ในกรณีนี้ ความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19 มีสูงกว่ามาก สูงกว่าความเสี่ยงของวัคซีนที่มีเพียงเล็กน้อย”
จนถึงตอนนี้ โควิด-19 คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 2.9 ล้านคน นับตั้งแต่ไวรัสอุบัติขึ้นครั้งแรกในจีนเมื่อเดือนธ.ค.2562 จากข้อมูลของสื่อ AFP