จีนเกินดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
จีนเกินดุลการค้าเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันในเดือนก.ค. เนื่องจากการส่งออกยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งและการนำเข้ายังคงเดิม ยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนถึงช่องว่างทางการค้าที่ประธานาธิบดีโดนัดล์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะทำให้แคบลง
โดยการส่งออกของจีนเติบโต 7.2% ในค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 11% แต่ตัวเลขทั้งคู่ลดลงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
ทั้งนี้ มูลค่าการเกินดุลการค้าของจีนสูงถึง 46,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การส่งสินค้าของจีนไปสหรัฐฯ เติบโต 8.9% จากเดิมอยู่ที่ 19.8% ในเดือนมิ.ย. ทำให้ช่องว่างการเกินดุลการค้ากับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ ลดลงมาเหลือ 25,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ดีมานด์ในสินค้าของจีนยังคงมีความยืดหยุ่นสูงเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในประเทศจีนเอง ผลผลิตที่แข็งแกร่งเกินคาดการณ์เป็นแรงสนับสนุนดีมานด์การนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
“ การส่งออกและนำเข้าโดยรวมยังคงฟื้นตัวได้เร็ว ” เรย์มอนด์ เหยิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนแผ่นดินใหญ่ที่ Australia & New Zealand Banking Group Ltd. ในฮ่องกงกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
“ หลังจากการฟื้นตัวดีดกลับขึ้นมาอย่างน่าประทับใจในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 นี้ การค้าของจีนมีเวลาหายใจได้มากขึ้น นี่ไม่ใช่จุดต่ำของวงรอบการค้า แต่กำลังจะทำให้การส่งออกเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ” เฟรดเดอริก นิวแมนน์ ผู้อำนวยการร่วมของการทำวิจัยเศรษฐกิจของเอเชียที่ HSBC Holdings Plc ในฮ่องกง
“ การส่งออกชะลอตัวในเดือนก.ค. เป็นการเตือนให้นึกถึงว่า ดีมานด์ของจีนซึ่งเป็นโรงงานของโลกมีขีดจำกัดที่จะคว้าส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น หากการส่งออกลดความร้อนแรงลง จะเป็นเหตุผลสนับสนุนเพิ่มขึ้นให้ระวังวงจรเครดิตขาลง ” ทอม ออร์ลิกและฟีลดิง เฉิน นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กเขียนในรายงาน
“ ตัวเลขเกินดุลการค้าของจีนลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขเดือนก.ค.ทำให้จีนอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นบนโต๊ะเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ ชัดเจนว่าจีนสามารถพูดได้เต็มปากว่า เราได้ทำงานไปมากเพื่อปรับสมดุลในความสัมพันธ์ทางการค้า และนี่คือตัวเลขที่ได้ ”
“ การค้ามีความผกผันสูงขึ้น ขณะที่ความขัดแย้งทางการค้าในบางพื้นที่อาจเพิ่มขึ้น แต่สงครามทางการค้าขนาดใหญ่คงไม่เกิดขึ้น ในฐานะประเทศผู้นำเข้าสินค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จีนจึงมีอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้า แม้ความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจของจีนดูจะไม่ได้รับผลกระทบ ” หลิว หลิว นักเศรษฐศาสตร์ China International Capital Corp. ในปักกิ่งเขียนในรายงาน.