เวเนซุเอลาเสี่ยงสงครามกลางเมือง
เวเนซุเอลาอาจประสบกับสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบหากทางกองทัพยังคงให้การสนับสนุนผู้นำเผด็จการประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรที่พัวพันกับการทุจริตต่อไป
ทางการเวเนฯจับกุมชาย 7 คนในช่วงสุดสัปดาห์เนื่องจากพวกเขามีส่วนในการบุกโจมตีฐานทัพนอกเมืองวาเลนเซีย ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยการโจมตีมีขึ้นหลังจากมีวีดีโอที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์เมื่อวันที่ 6 ส.ค.เป็นภาพกลุ่มชายในเครื่องแบบทหารที่ดูเหนื่อยล้าอ่อนแรงเรียกร้องให้มีการก่อกบฎเพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีมาดูโร
“นี่เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าประธานาธิบดีมาดูโรกำลังสูญเสียอำนาจในกองทัพและเราอาจคาดเดาได้ว่า อาจมีกลุ่มที่ขัดขืนคำสั่งของเขาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือนี่อาจเป็นเพียงเหตุการณ์เดี่ยว ที่ไม่แพร่หลายหรือได้รับการตอบรับจากใครเลยก็ได้” สจ๊วต คัลเวอร์เฮาส์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคและรายได้ทั่วโลกประจำ Exotix Capital ให้ความเห็นในอีเมล
“การที่กองทัพยังคงให้การสนับสนุนเป็นปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของมาดูโร และหลายคนในกองทัพยังคงพอใจที่จะให้เขาอยู่ในอำนาจต่อไป”
ที่ผ่านมา ผู้มีตำแหน่งระดับสูงในกองทัพของเวเนฯ ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างมากมายจากรัฐบาลของมาดูโร พวกเขามีอิทธิพลและมีสถานะทางการเงินเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อผู้นำคนนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การสนับสนุนอาจสั่นคลอนจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศและข่าวความไม่พอใจรัฐบาลที่แพร่กระจายในโลกออนไลน์ หากแรงสนับสนุนลดฮวบลง โอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมืองก็มีมากขึ้น
รัฐบาลเวเนซุเอลาอ้างว่าการบุกโจมตีฐานทัพเกิดจากฝีมือของทหารและพลเรือน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยทางการระบุว่า กำลังตามล่าผู้ที่ร่วมลงมือก่อเหตุอีก 10 คน ซึ่งหลบหนีไปพร้อมกับอาวุธเวเนฯประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ มีปัญหาการขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรคและสินค้าบริโภคพื้นฐานอื่นๆมานานกว่า 2 ปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเวเนฯพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันเป็นหลัก โดยรายได้จากการส่งออกน้ำมันคิดเป็น 95% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
เรจจี ธอมป์สัน นักวิเคราะห์ลาติน อเมริกาประจำ Stratfor กล่าวว่า การสนับสนุนจากกองทัพเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสภาร่างรัฐธรรมนูญในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยสภาแห่งนี้เป็นหน่วยงานทางกฎหมายที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อเดือนก.ค. และเป็นที่รวบรวมผู้จงรักภักดีต่อมาดูโรไว้เป็นจำนวนมาก
“เวเนฯเข้าสู่ภาวะไร้เสถียรภาพครั้งใหม่ บางส่วนในกองทัพก็ไม่พอใจวิธีการบริหารจัดการของมาดูโร” ธอมป์สันให้ความเห็น
การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่นานาประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรประธานาธิบดีมาดูโรหนึ่งวันหลังการเลือกตั้ง กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ยกเลิกการค้ากับเวเนฯ หลังสภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติไล่ลุยซา ออร์เตกาหัวหน้าอัยการออก
ทั้งนี้ ออร์เตกาตกเป็นเป้าหมายในการกำจัดให้พ้นทาง หลังเขาประณามการใช้กำลังรุนแรงของรัฐบาลที่มีต่อผู้ประท้วง โดยการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในเวเนฯ มีมานานกว่าสี่เดือนแล้ว และมีผู้ถูกสังหารไปมากกว่า 100 คน.